xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงาน พัฒนา E-nose ดมกลิ่นแทนมนุษย์!! แก้ปัญหาตรวจวัดกลิ่นรบกวนจากอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในแต่ละปี กรอ. รับข้อร้องเรียนเฉลี่ย 300 ครั้ง และเรื่องกลิ่นรบกวนจากสารเคมีที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มการผลิตเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ยังไม่สามารถตรวจวัดระดับกลิ่นได้ เนื่องจากไม่สามารถใช้คนดมได้ เพราะเป็นพิษอันตรายต่อสุขภาพผู้ทดสอบกลิ่น


นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปัญหาจากข้อมูลการร้องเรียนโรงงานด้านกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน กรอ.จึงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาเครื่องตรวจวัดกลิ่นรบกวนในกลุ่มที่ไม่ใช้วิธีการตรวจวัดแบบคนดม ด้วยการใช้เทคโนโลยี E-nose จมูกอิเล็กทรอนิกส์ตรวจวัดระดับกลิ่นรบกวนด้วยเทคโนโลยีเคมีไฟฟ้า (electrochemistry) จำนวนเซ็นเซอร์หลายชนิดหลายประเภท มาตรวจวัดกลิ่นเลียนเทียบเคียงแบบการดมกลิ่นของมนุษย์ 

กรอ.บูรณาการความร่วมมือกับ SCGP ผู้คิดค้นนวัตกรรม ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Nation Innovation Awards Winner จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติปี 2563 และร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนา E-Nose ตรวจวัดระดับกลิ่นรบกวนจากโรงงาน กำหนดคุณลักษณะ (Specification) ด้านเทคนิค ประสิทธิภาพ และการประมวลผลข้อมูลความถูกต้องแม่นยำ โดยกำหนดเงื่อนไขทางเทคนิคและปรับแต่งตั้งเซ็นเซอร์เทียบเคียงกับเทคนิควิธีใช้คนดม (Sensory Test) และการนำเครื่องต้นแบบไปทดสอบวัดค่าความเข้มกลิ่นในอุตสาหกรรมที่มีกลิ่นทุกประเภท ทั้งกลุ่มประเภทที่ใช้คนดม และไม่ใช้คนดม และประมวลผลการตรวจวัดระดับกลิ่นรบกวน มากำหนดเป็นร่างมาตรฐานระดับกลิ่นรบกวนในประเภทอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้วิธีการตรวจวัดแบบคนดม

“ในการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงการพัฒนาเครื่อง E-Nose พร้อมการกำหนดคุณลักษณะด้านเทคนิค ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี 2.ช่วงการทดสอบด้วยการตรวจวัดภาคสนาม การเก็บข้อมูลระดับกลิ่นจากภาคอุตสาหกรรม พร้อมการประมวลผล และการร่างค่าความเข้มกลิ่น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี คาดว่าจะสามารถนำ E-Nose มาใช้จริงได้ภายในปี 2567”

กรอ.บูรณาการความร่วมมือกับ SCGP ผู้คิดค้นนวัตกรรม และร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนา E-Nose ตรวจวัดระดับกลิ่นรบกวนจากโรงงาน
อธิบดี ก.ร.อ. ย้ำว่า กลิ่นรบกวนจากกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหาร โรงงานพ่นสี ผสมสารเคมีและการเผาไหม้เชื้อเพลิง ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรอบโรงงาน ปัจจุบันมีกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. 2548 (บังคับใช้กับโรงงาน 23 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหาร เครื่องดื่ม) และล่าสุดมีการกำหนดเพิ่มเติม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากโรงงานผลิตยาง พ.ศ. 2562 โดยทั้งหมดใช้วิธีการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นด้วยการดม (Sensory Test) ซึ่งการตรวจวัดด้วยผู้ทดสอบดมกลิ่นสามารถทำได้เฉพาะกลิ่นจากโรงงานที่เป็นการผลิตที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต อาหาร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติ ซึ่งกลิ่นดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อคนผู้ทดสอบดมกลิ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น