xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษา PING AN Digital Transformation กับการสร้าง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) / ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Ping An (ผิงอัน) 1 ใน 20 บริษัท ที่ทำ Digital Transformation ดีที่สุดในโลก ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (จาก Harvard Business Review ในบทความเรื่อง The Top 20 Business Transformations of the Last Decade) 

ปัจจุบันเป็นบริษัทกลุ่มประกันที่มีค่าที่สุดในโลก และเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและบริษัทประกันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในเอเชีย (FORTUNE GLOBAL 500 ปี 2021)

เส้นทางทรานส์ฟอร์มของ Ping An จากธุรกิจประกันแบบดั้งเดิม มาเป็นยักษ์ใหญ่ Tech Company ของโลก พร้อมความสำเร็จในการสร้างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในกรณีศึกษาการทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากหนังสือ Digital Transformation Compass เข็มทิศทรานส์ฟอร์มธุรกิจ


●Ping An ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน โดยเป็นบริษัทประกันภัยร่วมแห่งแรกในประเทศจีน
●พ.ศ. 2538 บุกเบิกธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ประกันด้วยการก่อตั้งบริษัท Ping An Securities
●พ.ศ. 2546 Ping An ได้รับอนุญาตให้เข้าซื้อกิจการ Fujian Asia Bank ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจการธนาคาร
●พ.ศ. 2547 Ping An Group เสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงในปีนั้น
●พ.ศ. 2550 Ping An Group จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่เสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น
●พ.ศ. 2555 Lufax ก่อตั้งขึ้น Ping An เริ่มเข้ามามีบทบาทด้าน FinTech และ HealthTech
●พ.ศ. 2555 - 2556 HSBC ตัดสินใจขายหุ้น Ping An ทั้งหมดประมาณ 15.57% ให้แก่ C.P. Group ด้วยมูลค่าประมาณ 9.38 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
●พ.ศ. 2560 - 2561 Ping An เข้าถือหุ้นใน HSBC Holdings จนมีสัดส่วนถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 7.01% ก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ HSBC (C.P. Group กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Ping An ด้วยสัดส่วน 9.19% อ้างอิงรายงานประจำปีของ Ping An ปี 2018)
●พ.ศ. 2563 Ping An อยู่ในอันดับที่ 7 ของโลกจัดโดย Forbes Global 2000, อันดับที่ 21 ของ Fortune Global 500, อันดับ 1 ในแบรนด์ประกันระดับโลกเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

กลยุทธ์ 1 Ping An 3 ธุรกิจด้านการเงิน 4 ระบบนิเวศ 11 บริษัทเทคโนโลยี

Finance + Technology เป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลี่ยนธุรกิจของ Ping An ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมธุรกิจการเงินหลัก ให้มีความสามารถระดับชั้นนำของโลกในด้าน FinTech และ HelthTech ด้วย 3 ธุรกิจด้านการเงิน ได้แก่ ธุรกิจประกัน เช่น Ping An Life, Ping An Health ธุรกิจการธนาคาร และ การจัดการสินทรัพย์ เช่น Ping An Trust, Ping An Securities

นอกจากนี้ Ping An ยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแบ่งปันผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม เพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศ ทั้ง 4 ได้แก่ ระบบนิเวศบริการทางการเงิน เช่น Ping An OneConnect และ E-wallet ระบบนิเวศการดูแลสุขภาพ เช่น Ping An Good Doctor, Ping An Annuity ระบบนิเวศบริการรถยนต์ เช่น Autohome, Ping An Financial Leasing และ ระบบนิเวศบริการเมืองอัจฉริยะ

10 ปีที่แล้ว .... จุดเริ่มต้นการทรานส์ฟอร์มของ Ping An

Peter Ma ผู้ก่อตั้งและประธาน Ping An สังเกตว่าเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตจะมีอิทธิพลผลต่อวิถีการใช้ชีวิตและการทำงาน จึงได้ตัดสินใจลงทุนในการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing อย่างจริงจัง) โดยในปี พ.ศ.2556 Jessica Tan ได้รับมอบหมายให้ย้ายระบบไอทีของ Ping An ทั้งหมดไปยังคลาวด์ และต่อมาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้ Ping An ประสบความสำเร็จ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง Executive Director Co-CEO Executive Vice President ของ Ping An Group

“การย้ายระบบไอทีของ Ping An ทั้งหมดไปยังคลาวด์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนั้น แต่เราย้าย 80% ของระบบไอทีของเราไปยังคลาวด์ ซึ่งต้องใช้เวลาและเป็นกระบวนการที่เจ็บปวดมาก”

การสร้างคลาวด์ของตัวเองทำให้ Ping An ต่อมาพิสูจน์แล้วว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ทำให้ Ping An มีความสามารถพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงได้ (Advanced Data Analytics) เป็นรากฐานทางเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ของ Ping An ทั้งหมดเข้าด้วยกัน

ตั้งแต่นั้นมา Ping An จึงมีนโยบายให้มีการลงทุน 1% ของรายได้ หรือประมาณ 10% ของกำไร ในการวิจัยและพัฒนาทุกปี


Ping An กับ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

Ping An ได้ทรานส์ฟอร์มเพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับการช่วยเหลืออุตสาหกรรมและสังคมให้เป็นมิตรกับทรัพยากรและเป็นมิตรกับสังคมมากขึ้น มุ่งมั่นที่จะสร้างมูลค่าร่วมกันที่มากขึ้นสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

ที่ผ่านมา Ping An เป็นรายแรกในประเทศจีนที่ดำเนินการโครงการต่าง ๆ อาทิ

ในปี 2019 Ping An ได้ลงนามในหลักการของการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ และต่อมาได้เข้าร่วม Climate Action 100+ โครงการริเริ่มสำหรับนักลงทุนที่เปิดตัวในปี 2017 เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะดำเนินการที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในปี 2020 Ping An ได้ลงนามในหลักการเพื่อการประกันภัยที่ยั่งยืน (PSI) ซึ่งเป็นกรอบความยั่งยืนระดับโลกของโครงการการเงินโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP FI)

ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จำนวนเงินเอาประกันภัยแบบยั่งยืนของ Ping An มีมูลค่าถึง 393 ล้านล้านหยวน โดยมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบยั่งยืน 1,297 รายการซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมประกันภัย

Ping An ยังได้รวมการพัฒนาธุรกิจของบริษัทเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2018 โดยได้จัดทำโครงการสนับสนุนชุมชนชนบทปิงอันใน 21 จังหวัดและเขตปกครองตนเองทั่วประเทศจีน โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพ และการศึกษาในพื้นที่ชนบทในทุกระดับ


บทความ โดย ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล
ผู้ก่อตั้งสถาบัน Digital Transformation Academy 

และ ผู้เขียนหนังสือชุด Digital Transformation : In Action, Canvas และ Compass ทั้ง 3 เล่ม


กำลังโหลดความคิดเห็น