ไทยออยล์ยึดหลัก ESG ขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในปี 2565 พร้อมเดินหน้าธุรกิจสู่เป้าหมายเชิงรุกด้วยกลยุทธ์ 3 V ตอบโจทย์ลูกค้าและขยายตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันอยู่เคียงข้างชุมชนและสังคมมาโดยตลอด เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เติบโตควบคู่มิตรภาพรอบด้านอย่างสมดุล เผยวิกฤตโควิด-19 ส่งผลปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ชี้เป็นโอกาสเพิ่มความช่วยเหลือสอดรับ New Normal ย้ำกิจกรรมพิเศษปีนี้ในวาระครบรอบ 60 ปี สร้างสรรค์และขยายผลสู่เป้าหมายการเป็นองค์กร 100 ปี
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยออยล์ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลกที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ติดต่อกัน 9 ปี เป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานสูง การสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน รวมทั้งการยอมรับในระดับนานาชาติ
ปัจจุบันไทยออยล์ดำเนินธุรกิจผ่านมา 60 ปี และจะยืนหยัดต่อไปให้ถึง 100 ปี โดยการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ในธุรกิจพลังงาน ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ส่งผลต่อธุรกิจน้ำมันเนื่องจากการเดินทาง โดยเฉพาะทางอากาศลดลงอย่างมาก รวมถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ดังนั้น ไทยออยล์จึงมีการปรับตัว มีแนวคิดในการสร้างการเจริญเติบโตบนพื้นฐานอันแข็งแกร่ง มุ่งมั่นที่จะต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี พร้อมทั้ง เพิ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาค
สำหรับเป้าหมายเชิงรุกในการสร้างการเติบโตของธุรกิจทุกด้านอย่างรวดเร็ว ตามแผนกลยุทธ์หลักของบริษัทฯ ประกอบด้วย 3 V ได้แก่ 1. Value Maximization เสริมความสามารถและความยืดหยุ่นในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์จากธุรกิจการกลั่น เป็นฐานการผลิตสำคัญ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ และเคมีภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง High Value Products 2. Value Enhancement การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า โดยมุ่งให้ใกล้ชิดและเข้าถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น สามารถกระจายผลิตภัณฑ์เจาะลึกในประเทศและตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง 3. Value Diversifications การกระจายการเติบโตผ่านพอร์ตการลงทุนของบริษัทฯ เพื่อสร้างความมั่นคง และแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน ESG ประกอบด้วย “Enhance” การสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว มีการตั้งป้า Net Zero Carbon Emission ในปีค.ศ.2060 “Engage Society” สร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม โดยการใช้พลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์ต่อสังคม และ“Ensure Good Governance” สร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยการมีบรรษัทภิบาลที่ดี เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกฎหมาย การขยายธุรกิจไปต่างประเทศซึ่งต้องให้สอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละท้องถิ่น ขณะเดียวกันคือการพยายามสร้างความสมดุล ความเข้มข้นในการควบคุม ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน
ด้านนายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยออยล์ขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนโดยใช้หลัก ESG เพราะการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ไทยออยล์บรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลยุทธ์หรือแนวทางการอยู่ร่วมกับสังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นบรรษัทภิบาล (Environmental , Social , Governance ) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงให้สำเร็จได้
กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในปี 2565 ประกอบด้วย E-Environmental ได้แก่ “Energy Efficiency” เป็นการประหยัดพลังงานในการผลิตเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม “Decarbonization” โดยนำเทคโนโลยีการดักจับก๊าซเรือนกระจกมาใช้ รวมทั้ง การชดเชยการดูดซับคาร์บอนด้วยการปลูกป่า และยังมีการตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 25%
S-Social ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ “Community – Society - Nature” โดย “Community” ใช้แนวทาง CARE ประกอบด้วย C-Control Source การดูแลกระบวนการผลิต ควบคุมและป้องกันการสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน ดูแลสภาพเศรษฐกิจสังคมรอบโรงกลั่น รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค A-Associate เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้รับรู้ และสามารถแสดงความคิดเห็น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจทำได้โดยราบรื่น R-Relationship การสร้างความสัมพันธ์ ด้วยการสื่อสาร เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการ รับทราบการดำเนินธุรกิจของกลุ่มไทยออยล์ E-Engagement การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนในเรื่องต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม การศึกษา และเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่องตลอดไป การดำเนินกลยุทธ์นี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความผูกพันกับชุมชน โดยมุ่งหวังให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งทุกๆ ปีมีการประเมินจากหน่วยงานภายนอก
“Society” ด้วยการเชื่อมโยงหรือขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมกับธุรกิจให้สอดคล้องกันไป และเมื่อมีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจเพิ่มขึ้นจะนำมาใช้เพื่อตอบแทนสังคมต่อไปในอนาคต การใช้ความรู้และพื้นฐานธุรกิจขับเคลื่อนและทำประโยชน์เพื่อสังคมควบคู่กันไป เช่น ปัจจุบันในการดำเนินธุรกิจพลังงาน มีการใช้ความรู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งแผงโซลาร์เซล และในอนาคตเมื่อเข้าสู่ธุรกิจปิโตรเคมี จะใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จะมีการดูแลขยะพลาสติก ฯลฯ
“Nature-based Solutions” เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยการนำหลักการ “การแก้ปัญหาระบบนิเวศที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน” ได้แก่ การรักษา ปกป้อง และร่วมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศให้สมดุลในชุมชน เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน วิธีการที่ดีที่สุดคือการใช้วิธีทางธรรมชาติ เป็นการช่วยเติมเต็มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเน้นในเรื่องการปลูกป่า ทั้งป่าบก ป่าโกงกาง การสร้างพื้นที่สีเขียว โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 2 แห่ง ได้แก่ “เขาภูไบ”เป็นพื้นที่ซึ่งใกล้กับโรงกลั่นเพราะเชื่อว่าการดำเนินอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ส่วนการปลูกป่าชายเลนเพราะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากกว่าป่าบก 3 เท่า และ “สวน 60 ปี” เป็นพื้นที่สีเขียวรอบโรงกลั่น จะเข้ามาเติมเต็มและทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมของไทยออยล์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มเติมต่อยอดและขยายผลจากโครงการที่ดำเนินการอยู่ เช่น การนำเงินค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้จากการใช้โซลาร์เซลจะนำไปใช้ดูแลผู้ป่วย การวิจัยพัฒนาเพื่อตอบแทนสังคมได้ดีขึ้น การกำจัดกากของเสียตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้ทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งโครงการ “คุณริเริ่ม เราเติมเต็ม” ระยะที่สอง เป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องเพราะนอกจากช่วยเหลือสังคมได้อย่างกว้างขวาง ยังส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีให้องค์กรอีกด้วย
G-Governance ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ โดยเน้นระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้เสีย มี 3 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย “พนักงาน กระบวนการ และเทคโนโลยี” โดยการสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยกำกับดูแลการดำเนินการ รวมทั้งการปฎิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกฎหมายในทุกๆ กิจกรรมในการดำเนินธุรกิจ
สำหรับกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินการในปี 2564 และในวาระครบรอบ 60 ปี มีโครงการหลักๆ ดังนี้ ส่วนแรก เริ่มที่การบริหารงานชุมชน ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี ไทยออยล์ยังคงทำกิจกรรมชุมชนต่อเนื่อง และมากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยชุมชนรอบโรงกลั่น “การป้องกัน” มีการสนับสนุนเจลแอลกอฮอลล์ หน้ากากอนามัย การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนที่ศาลาประชาคมอ่าวอุดม เป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนเชิงรุก “การรักษา” เมื่อมีผู้เจ็บป่วยจากโควิด ด้วยการสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม โดยบริจาคเครื่องอ๊อกซิเจน ชุดPPE การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และการจัดตั้งศูนย์พักคอย “การช่วยเหลือ” เนื่องจากเกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา ทำให้มีการมอบตู้ปันสุข ถุงยังชีพ ทุนการศึกษาเยาวชน รวมทั้ง มีการ ปรับเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือ โดยใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ เช่น การสวดมนต์ การสอนเทคนิคการเล่นฟุตบอลในช่วงที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมในพื้นที่ และการสอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ
“กิจกรรมเพื่อสังคมสำหรับชุมชนรอบโรงกลั่นที่ทำมาตลอดต่อเนื่อง แต่ช่วงโควิดอาจจะปรับเป็นออนไลน์ มีทั้งการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ได้รับผลสำเร็จจากการประเมินโดยที่ปรึกษาอิสระพบว่า ได้คะแนนจากชุมชนสูงถึง 97% มากกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมทั่วไป เป็นความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจให้ทำต่อไป”
ในส่วนกิจกรรมและโครงการวาระครบรอบ 60 ปี มีกิจกรรมพิเศษต่างๆ โครงการแรก “ไทยออยล์ 60 ปี Eco Park” เป็นการขอใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งบริเวณศาลาประชาคมของเทศบาลแหลมฉบัง ประมาณ 6 ไร่ อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าภายในกลางปี 2565 จะเสร็จพร้อมใช้ ตั้งใจสร้างเป็นของขวัญให้ชุมชนชาวแหลมฉบัง และเป็นการตอบรับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนำหลัก Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานโซล่าร์เซล การคัดแยกขยะ และในส่วนการใช้งานพยายามออกแบบให้ตอบสนองกับคนทุกช่วงวัยและกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น สนามเด็กเล่นสำหรับเด็กเล็ก ลานออกกำลังสำหรับผู้สูงวัย ลานกิจกรรมสำหรับหนุ่มสาว และสู่วิ่งเพื่อการออกกำลังกาย เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมย่อยๆ มีมากมาย เช่น โครงการ“คุณริเริ่ม เราเติมเต็ม” เป็นกิจกรรมที่พนักงานคิดขึ้นแล้วบริษัทจัดสรรงบประมาณแล้วนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมจิตอาสาของพนักงาน เพราะมองว่าเป็นอีกส่วนสำคัญนอกจากความเก่งในวิชาชีพแล้ว การมีจิตสาธารณะจะช่วยทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กร 100ปี โครงการนี้เสร็จเมื่อกลางปี ได้รับความสนใจอย่างมากมีกว่า 1,600 กิจกรรม และเป็นเงินบริจาคประมาณ 1.3 ล้านบาท นำไปช่วยเหลือสังคมได้อย่างหลากหลาย เช่น การดูแลผู้ป่วย การทำโต๊ะเก้าอี้ให้โรงเรียน การบริจาคโลหิต การปลูกป่าชายเลน การนำความรู้ด้านวิศวกรรมไปช่วยติดตั้งโซลาร์เซล และการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลต่างๆ เช่น วัดพระบาทน้ำพุ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “Charity Virtual Run” เปิดโอกาสให้นักวิ่งทั่วประเทศเข้าร่วม โดยไทยออยล์จะสมทบให้กิโลเมตรละสองบาท และผู้ได้คะแนนสูงสุด 20 รางวัลแรก นำรางวัลไปมอบให้องค์กรการกุศล ทำให้สามารถกระจายการบริจาคไปได้ทั่วทุกภูมิภาค ภายใน 1 เดือนกว่า มีนักวิ่งเข้าร่วมประมาณ 3,000 คน สามารถสะสมระยะทางเกินกว่า 1 ล้านกิโลเมตร คิดเป็นเงินบริจาคกว่า 2 ล้านบาท โครงการ “ส่งพลังงาน สร้างพลังใจ สู้ภัยโควิด” ในสถานการณ์โควิด โครงการติดตั้งโซลาร์เซล ในสถานพยาบาลต่างๆ เช่น รพ.แหลมฉบัง เป็นการใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมพลังงานไปช่วย และโครงการร่วมกับกลุ่มปตท. ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
“ไทยออยล์มีเอกลักษณ์ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ก่อนที่ไทยออยล์จะมาอยู่ พื้นที่ตรงนี้เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ และพนักงานไม่มีใครอยากมาทำงานที่นี่เพราะไกลและกันดาร ไทยออยล์จึงเข้าไปปลูกบ้านจัดการพื้นที่ให้น่าอยู่ แต่วันนี้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งเจริญมาก พื้นที่ศรีราชามีนิคมอุตสาหกรรม มีธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย ชุมชนขยายเข้ามาใกล้เรามาก วันนี้ เราจึงเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนมาก และอยากเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนในเชิงเทคโนโลยี และศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้นแบบขององค์กรที่แสดงให้เห็นว่าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม และทรัพยากรธรรมชาติอย่างพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างสมดุล พร้อมมุ่งสู่การเป็นองค์กร 100 ปี”นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย