xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจี วางกลยุทธ์ใหม่ ESG 4 Plus รุกธุรกิจปิดความเสี่ยงตอบโจทย์ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี
ณ วันนี้ การขับเคลื่อนในโลกธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้น นอกจากมุ่งแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว การบริหารความเสี่ยงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน “ESG” ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องหาวิธีบริหารจัดการ เพื่อสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงที่มีผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไร การแข่งขัน ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ความอยู่รอด และการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร

“เอสซีจี” ซึ่งดำเนินธุรกิจที่มุ่งเป้าสู่ความยั่งยืน จึงขับเคลื่อนโดยให้ความสำคัญกับ ESG มาโดยตลอด เห็นได้จากการได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิก Down Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ติดต่อกันมาอย่างยาวนานถึง 18 ปี นับเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเอสซีจีได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น และภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้ภัยพิบัติต่างๆ รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งไฟป่า พายุถล่ม และอุทกภัยที่เกิดอย่างฉับพลัน อยู่ในจุดที่เรียกว่า “Climate Emergency” การสูญเสียสมดุลทางชีวภาพ อันเป็นผลจากการอุปโภคและบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ส่งผลให้ทรัพยากรทั่วโลกขาดแคลน วิถีชีวิตแบบ New Normal ส่งผลด้านลบให้เกิดขยะจำนวนมหาศาล และวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักทั่วโลกนานกว่า 2 ปี ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายวง เกิดปัญหาการตกงาน และปัญหาอื่นๆ ตามมา


ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะความเสี่ยง ESG คาดเดาและประเมินผลกระทบในเชิงปริมาณหรือคำนวณเป็นตัวเงินได้ยาก ดังนั้น การนำ ESG แนวทางการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) มาใช้เป็นแนวทางหรือกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ย่อมจะช่วยลดความเสี่ยงและทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้ยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่ก้าวสู่ปีที่ 109 ให้มั่นคงแข็งแกร่งเป็นที่ยอมรับต่อไปในระดับโลก เอสซีจีได้ประกาศยกระดับการดำเนินธุรกิจด้วย “ESG 4 Plus” ซึ่งประกอบด้วย “มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ - Plus เป็นธรรม โปร่งใส” ให้เป็นแนวทางหรือกลยุทธ์ใหม่ ที่จะเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ และป้องกันความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของธุรกิจได้อย่างแท้จริง”

๐ “มุ่ง Net Zero” ภารกิจพิชิตคาร์บอน

เมื่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญและต้องจัดการอย่างเร่งด่วน เอสซีจีจึงตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำในกระบวนการผลิตต่างๆ ได้แก่ การใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้ลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory for Energy Analytics) และเตรียมทดลองนำร่องใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS) ฯลฯ ทั้งยังสนับสนุนกิจกรรมเพื่อลดปัญหาโลกร้อนด้วยการปลูกต้นไม้ 3 ล้านไร่ และป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตันco2 พร้อมขยายผลไปในอาเซียน รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ 130,000 ฝาย เพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำ และขยายชุมชนการจัดการน้ำยั่งยืนครอบคลุมทั่วประเทศ


๐ “Go Green” ลุยนวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน จึงมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่า จากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 67 ภายในปี 2030 อาทิ “ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด” และ”ระบบหลังคา SCG Solar Roof Solutions” เป็นต้น จัดตั้งบริษัท “SCG Cleanergy” บริการโซลูชันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ และพัฒนานวัตกรรมที่โดดเด่นอื่นๆ เช่น “CPAC Green Solution” ซึ่งช่วยให้ก่อสร้างเสร็จเร็วและลดของเหลือทิ้งในงานก่อสร้าง “SCG Green Polymer” นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง การตั้งเป้าให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของ SCGP ให้รีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ในปี 2050

“ทั้งนี้ เพื่อการปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาธุรกิจคาร์บอน ให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงร้อยละ 20 ภายในปี 2030 เอสซีจีได้ประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท ในช่วง 7 ปีข้างหน้า สำหรับการมุ่งสู่ Net Zero และ Go Green พร้อมมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ” นายรุ่งโรจน์ กล่าว


๐ “Lean เหลื่อมล้ำ” เร่งช่วยสังคมพัฒนาทักษะอาชีพ

ความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นปัญหาสำคัญ เอสซีจีมุ่งลดปัญหาดังกล่าว โดยเน้นไปที่เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ขาดความรู้ ขาดโอกาส และยังเผชิญกับภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมน้ำแล้งที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม โดยดำเนินโครงการเลิกแล้งเลิกจน เกิดผลสำเร็จกว่า 38,000 ครัวเรือน ใน 38 จังหวัดพึ่งพาตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยเกษตรยั่งยืน ซึ่งจะขยายผลสำเร็จโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป 

ต่อจากนี้ จะขยายวงโดยมุ่งลดปัญหาด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้ชุมชนรอบโรงงาน และ SMEs จำนวน 20,000 ราย ภายในปี 2025 เช่น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ อาชีพช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์กับการขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านโครงการพลังชุมชน อาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และนักบริบาลผู้สูงอายุ ผ่านโครงการ Learn to Earn พร้อมเสริมความรู้การเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ด้วย Kubota Smart Farming และในช่วงโควิด-19 ยังช่วย SMEs ให้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม NocNoc.com และ Prompt Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงใช้แพลตฟอร์ม Siam Saison ให้สินเชื่อร้านค้าช่วงและผู้รับเหมารายใหญ่

๐ “ย้ำร่วมมือ” สานพลังทุกภาคส่วน

เพราะการมีพันธมิตรร่วมดำเนินการจะก่อให้เกิดความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายดีขึ้น เอสซีจีจึงมุ่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG ต่อเนื่องกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในระดับประเทศ อาเซียน และโลก อาทิ การร่วมกับไปรษณีย์ไทยและองค์การเภสัชกรรมรีไซเคิลกล่องกระดาษเหลือใช้ในโครงการ“ไปรษณีย์ reBOX” การร่วมกับ PPP Plastic นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล สร้างต้นแบบจัดการขยะพลาสติก การร่วมกับ Unilever เปลี่ยนขยะพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนเป็นพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงเพื่อผลิตขวดบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล การร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) ลดการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเข้าไปในเนื้อคอนกรีตในอุตสาหกรรมซีเมนต์ (Recarbonation: CO2 sink) และล่าสุด ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Green Meeting ในงานประชุม APEC2022 และ ASEAN Summit และยังเตรียมจัดงาน ESG Symposium ในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพื่อเชิญทุกภาคส่วนในอาเซียนร่วมขับเคลื่อน ESG อย่างจริงจัง

๐ “Plus เป็นธรรม โปร่งใส” อยู่ใน DNA พนักงานทุกคน

การขับเคลื่อน ESG 4 Plus เป็นการดำเนินทุกกิจกรรมอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ทั้งยังเน้นการปลูกฝังพนักงานทุกคน โดยถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

นายรุ่งโรจน์ กล่าวย้ำว่า “เอสซีจีไม่สามารถแก้ไขวิกฤตโดยลำพังเพื่อโลกที่ยั่งยืน จึงเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมดูแลโลกของเราให้น่าอยู่เพื่อส่งต่อรุ่นลูกหลาน โดยในเวทีระดับโลก COP26 เอสซีจีมีโอกาสไปประกาศความมุ่งมั่น และพร้อมลงมือทำ ซึ่งพนักงานทุกคนคือส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ ดังนั้น ESG 4 Plus จะเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนต้องทุ่มเทความพยายามและความสามารถอย่างเต็มที่ ผสานความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นและดูแลสังคมให้ยั่งยืน”