xs
xsm
sm
md
lg

พลิกฟื้นทุ่งชมพู! จากแห้งผากสู่ชุ่มชื้น โมเดลยั่งยืน แก้ปัญหาน้ำ ลดเหลื่อมล้ำ-ยากจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โมเดลแก้ปัญหาน้ำยั่งยืน ที่บ้านทุ่งชมพู อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา  ลงพื้นที่
•ตีโจทย์แตก! หากจะแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย ต้องเริ่มจากคนกลุ่มใหญ่ที่มีโอกาสน้อยที่สุดก่อน คือ กลุ่มเกษตรกร และ “น้ำ” เป็นปัจจัยแรกที่เขาต้องการ


•“ทุ่งชมพูโมเดล” อีกตัวอย่างที่จะขยาย! หลังพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ทำการต่อยอดให้ทำเกษตรแบบผสมผสานเสริมรายได้ ลดการใช้สารเคมี ทำให้มีรายได้สู่ครอบครัวทุกวันซึ่งช่วยลดภาระหนี้สินในที่สุด

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และอนุกรรมธิการฯ กล่าวว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ เราตั้งคำถามว่าจะแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยได้อย่างไร และได้คำตอบว่าควรต้องเริ่มที่คนกลุ่มใหญ่ที่มีโอกาสน้อยที่สุดก่อนก่อน นั่นคือกลุ่มเกษตรกร เราได้ศึกษาอย่างถ่องแท้และพบว่าสิ่งแรกที่เกษตรกรต้องการคือ’น้ำ’

“การมีน้ำเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของชีวิต คณะกรรมาธิการฯอยากให้ประชาชนมีทั้งน้ำและคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อมีน้ำแล้วต้องทำเกษตรแบบผสมผสานเสริมรายได้ ลดการใช้สารเคมี จะทำให้มีรายได้สู่ครอบครัวทุกวัน ช่วยลดภาระหนี้สิน และจะทำให้หมดหนี้ได้ในที่สุด”


นวตกรรม’บ่อบาดาลน้ำตื้นชุดโซลาร์เซลล์’ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองตลอดปี
ทุ่งชมพูโมเดล เริ่มจากสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก

ห่างออกไป 490 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร สู่จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มุ่งหน้าต่อไปอีก 90 กิโลเมตร จากตัวเมืองขอนแก่นถึงเป้าหมายพื้นที่ตำบล 'บ้านทุ่งชมพู' อ.ภูเวียง

'บ้านทุ่งชมพู' โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับกับที่ดอน และอยู่ใกล้เขื่อนเก็บน้ำ ฤดูฝนบางปีเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ติดกับริมเขื่อน ส่วนในฤดูแล้งน้ำแห้งขอด เป็นเช่นนี้ชั่วนาตาปี ประชาชนขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการทำเกษตร

ตำบลบ้านทุ่งชมพู มีพื้นที่ 41.1 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10,397 ไร่ เป็นเขตปกครององค์การบริหารส่วนตำบล มี 8 หมู่บ้าน ลักษณะดินในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย และเหนียวปนทรายและดินเหนียวปนหิน เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน มีประชากร 4,760 คน เป็นชาย 2,408 คน หญิง 2,352 คน รวมจำนวน 1,216 ครัวเรือน

ตอนนั้น นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เสนอแนวคิด ‘วิถีเกษตรจากแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วย นวตกรรม’บ่อบาดาลน้ำตื้นชุดโซลาร์เซลล์’ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองตลอดปี ให้กับพี่น้องเกษตรกร’ทุ่งชมพู’ เมื่อครั้งเดินทางมาที่ทุ่งชมพู ราวต้นปี 2563

’บ่อบาดาลน้ำตื่นชุดโซลาร์เซลล์’ คือ 1ใน 10 นวตกรรมแหล่งน้ำขนาดเล็ก แนวทางพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง คิดค้น จากประสบการณ์งานชลประทานทุกรูปแบบของนาย ภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้ไว้ ศูนย์รู้และปฎิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำฯ จังหวัดขอนแก่น

‘น้ำ’ ปัจจัยแรกแก้ความยากจน 

ก่อนหน้านี้พื้นที่ตำบลทุ่งชมพูทำการเกษตรได้ปีละประมาณ 4 เดือน เพราะต้องรอจากน้ำฝนอย่างเดียว พืชที่ปลูกเป็นหลักก็คือข้าว อ้อย เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เมื่อพ้นฤดูฝนจะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำเกษตร ชาวบ้านจะเข้าไปรับจ้างในเมือง รายได้แต่ละครอบครัวจัดอยู่ในพื้นที่ยากจน จนเมื่อนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือเรื่องการจัดการน้ำในการทำการเกษตรมาใช้ ปาฏิหาริย์จึงเกิดขึ้น

“หลักคิดก็คือ ปัจจัยการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่สำคัญคือการจัดการให้มี ’น้ำ’ ทำการเกษตรได้ตลอดปี ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่น พริก มะเขือเทศ แตงกวา ดอกดาวเรือง และอื่นๆ ที่สามารถเก็บผลผลิตหมุนเวียนไปขายได้ตลอด ตามความต้องการของตลาด ทำให้มีรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์”

นายสังศิต บอกว่า “คำถามคือ เราจะหาน้ำมาจากไหน? น้ำมีอยู่ใต้ดินโดยใช้ระบบบ่อบาดาลน้ำตื้น สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ เมื่อได้แสงอาทิตย์เครื่องก็สูบน้ำโดยอัตโนมัติ พักน้ำไว้ที่สระ สูบขึ้นถังตั้งสูงประมาณ 2 เมตร โดยโซลาร์เซลล์เช่นเดียวกัน และจะปล่อยน้ำจากถังผ่านท่อระบบน้ำหยดสู่แปลงพืชที่ปลูก”

(บน) สระเก็บน้ำที่บ้านทุ่งชมพู มักไม่พอใช้ทำเกษตรกรรมตลอดฤดูแล้ง (ล่าง) เกษตรกรตำบลทุ่งชมพู ทำการเกษตรแบบผสมผสาน พร้อมกับมีระบบน้ำฉีดที่ได้จากบ่อบาดาลน้ำตื้น
มี “น้ำ” พลิก‘ทุ่งชมพู’ ชีวิตชาวบ้านสุกใส มั่นคง

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ พบว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ใหม่ ฉีกแนวคิดแบบเดิม เป็นนวัตกรรมจากประสบการณ์โดยศูนย์ความรู้และปฎิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำฯ มีนายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานเขต 6 ดำเนินการแบบจิตอาสา เพิ่งเข้าไปให้ความรู้แนะนำการเจาะบาดาลน้ำตื้นเพื่อเกษตรกรรมตั้งแต่ปี 2559 เริ่มต้น 60 บ่อ เมื่อชาวบ้านเห็นตัวอย่างที่ได้ผล ปัจจุบันขยายถึง 500 บ่อ ด้วยทุนของชาวบ้าน ซึ่งลงทุนประมาณบ่อละ 2-3 หมื่นบาท

‘ผมคิดว่าชุมชนแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ คือการพึ่งตัวเอง คนไทยจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ เกษตรกรต้องทำคือ การเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเอง จากความเคยชินที่ออกไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกภาคการเกษตรเป็นประจำทุกปี โดยหันมาพึ่งตัวเองให้ได้’

“เทียบกับหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บ้านที่เคยอยู่แบบชาวบ้าน วันนี้เปลี่ยนเป็นบ้านสมัยใหม่ เหมือนบ้านของคนในเมือง สิ่งนี้เป็นดัชนีที่สะท้อนถึงรายได้ที่มั่นคง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วงโควิดที่คนไทยส่วนใหญ่ยากลำบากแสนสาหัส แต่ครอบครัวในชุมชนนี้กลับมีความสุขมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากการพึ่งพาตัวเองได้นั่นเอง”

แพร่กระจายแนวคิด ‘ทุ่งชมพู’

นายสังศิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรามีพื้นที่นอกเขตชลประทาน 116.45 ล้านไร่ หรือประมาณ 78 % เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กจะเป็นหมุดหมายที่ชี้วัดถึงการที่เกษตรกรสามารถก้าวพ้นจากความยากจนได้ ซึ่งเกษตรกรตำบลทุ่งชมพู ได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าหากมีน้ำและมีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การประสบผลสำเร็จในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป

ผมมั่นใจว่าด้วยโมเดลของ “ทุ่งชมพู” ที่ใช้ทฤษฎีแหล่งน้ำขนาดเล็กและการทำเกษตรแบบผสมผสานที่สอดคล้องกับความต้องการจะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืน พึ่งตนเองได้ ใช้เป็นแนวทางให้กับทั่วประเทศได้ หลักคิดสำคัญคือการจัดการให้มี ‘แหล่งน้ำ’

‘ผมคิดว่า ทุ่งชมพูเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่อยากจะเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรภาคอีสานรวมทั้งในภาคอื่นๆ ของประเทศด้วยได้มาเห็นของจริง ถ้าเห็นแล้วท่านจะได้มีโอกาสคุยกับลุงเข็มจริงๆ หรือคุยกับคนในชุมชน จะได้รู้ว่าท่านก็สามารถพึ่งตัวเองได้ สามารถจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ภายในปีสองปี ถ้าท่านเริ่มต้นทำวันนี้ชีวิตท่านก็ดีขึ้นภายในวันนี้ ถ้าเริ่มต้นปีหน้าชีวิตท่านก็จะดีขึ้นในปีหน้าอย่างแน่นอนเลยครับ’ นายสังศิต กล่าวในที่สุด

(ซ้าย) นางสาวอาภัสสร ดาถำ บุตรสาวลุงเข็ม (ขวา) นายสุรินทร์ หล้าแก้ว
ด้าน นางสาวอาภัสสร ดาถำ บุตรสาวลุงเข็ม (นายฉลอง ดาถำ) เล่าว่า พ่อเข็มปลูกพืชแบบผสมผสาน มี มะเขือเทศ พริก แตงกวา ฟัก ในพื้นที่ 3-4 ไร่ คุณพ่อจะศึกษาความต้องการของตลาด ปลูกพืชผักหมุนเวียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจะได้ราคาดี เฉพาะพริกอย่างเดียวเก็บได้วันละ 80 กิโลกรัม ต่อรอบมีรายได้ 3,000 บาท ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

นายสุรินทร์ หล้าแก้ว อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งชมพู ผู้มีส่วนนำแนวคิดการใช้แหล่งน้ำขนาดเล็ก ‘บ่อบาดาลน้ำตื้น ชุดสูบน้ำพลังงานโซลาร์เซลล์’ เข้ามาแก้ปัญหาขาดน้ำในพื้นที่ตำบลทุ่งชมพู กล่าวว่า เมื่อก่อนเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก คือ ข้าวกับอ้อย แต่ตอนนี้ อย่าง ‘ลุงเข็ม’ ได้ปรับตัวโดยปลูกพืชผสมผสาน ใช้ระบบบาดาลน้ำตื้นโดยมีชุดโซล่าร์เซลล์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานเขต 6 ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ทั้งปี

“กลุ่มเกษตรกรมีการพัฒนา เรียนรู้ จึงได้ประสบการณ์ ทั้งการปลูก และการใช้น้ำ รวมถึงการตลาด ทุกวันนี้หลายครัวเรือนมีรายได้มากขึ้น สภาพความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น พวกเขามีรายได้ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน อย่าง ’ลุงเข็ม’ รายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่าล้านบาทแล้วครับ"