เมื่อวานนี้ (3 พ.ย.2564) เพจเฟซบุ๊ค Thailand Tiger Project DNP โพสต์ว่า ได้ยินเสียงสัญญาณตอบรับจากปลอกคอของเสือโคร่ง “วิจิตร” ที่รับได้โดยเครื่องรับสัญญาณที่มีเสาอากาศ แสดงว่าวิจิตรยังปลอดภัย “ เสียงสัญญาณดัง ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด น้องยังเคลื่อนไหว กระฉับกระเฉง อย่าได้ห่วง โดยจุดที่น้องอยู่ไม่ไกลจากทีมวิจัย”
จากกรณีเสือโคร่ง "วิจิตร" ออกนอกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งทราบจากสัญญาณปลอกคอ นายธวัชชัย เพชระบูรณิน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 กล่าวว่า จากรายงานครั้งแรกพบว่าสัญญาณดาวเทียมของ “วิจิตร” เสือโคร่งห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ออกนอกพื้นที่ เมื่อวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2564 โดยพบอยู่บริเวณที่บ้านปางสัก อำเภอเเม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ และที่บ้านเขาน้ำอุ่น อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร แต่ยังไม่สามารถพบตัวได้ พบเพียงรอยเท้าและสัญญาณจากปลอกคอเท่านั้น
จากนั้น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิชาการ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พร้อมอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณวิทยุภาคพื้นดิน เพื่อติดตามสัญญาณจากปลอกคอเสือโคร่ง
รายละเอียดของการติดตาม .ช่วงเช้าของวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตรวจพบสัญญาณวิทยุ เสือโคร่งข้ามถนนหมายเลข 1072 สายเขาชนกัน- เขาน้ำอุ่น-คลองลาน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกและได้เดินกลับเข้าสู่บริเวณเขาน้ำอุ่นในเวลา 05.00 น. โดยมีแนวโน้มจะเดินกลับเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พอมาช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตรวจสอบพื้นที่ในพิกัดที่ได้รับจากสัญญาณวิทยุ ซึ่งเชื่อมกับสัญญาณปลอกคอ พบรอยตีนเสือโคร่งอยู่ในบริเวณไร่ยูคาลิปตัส บริเวณบ้านปางมะนาว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และยังไม่พบตัวเสือโคร่ง หลังจากนั้นพบสัญญาณของ “วิจิตร” เดินข้ามเขาน้ำอุ่น มาด้านหน้าเขาใกล้กับโครงการบ้านเล็ก ในป่าใหญ่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งใกล้กับแหล่งชุมชนมาก
ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันราษฎรในพื้นที่เขาน้ำอุ่นในช่วงกลางวัน เจ้าหน้าที่จะตรึงกำลังรอบบริเวณเขา เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับราษฎรในพื้นที่ และหากราษฎรพบเห็นเสือโคร่งให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาดำเนินการนำเสือโคร่งกลับสู่ป่าอนุรักษ์ โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอย่าทำร้ายหรือทำอันตรายกับเสือโคร่ง ซึ่งอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ก็ยังไม่พบตัวเสือแต่อย่างใด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการติดตามเสือโคร่ง “วิจิตร” ให้ปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักวิชาการและใช้เครื่องมือเทคโนโลยีให้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ทราบว่าเสือโคร่ง “วิจิตร” อยู่ตำแหน่งใด เพื่อจะได้นำคืนป่าอนุรักษ์ต่อไป รวมทั้งได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทำการประชาสัมพันธ์ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้ทราบ และระมัดระวังดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเองด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
Thailand Tiger Project DNP
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช