กลับมาจากชุมพร (ปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา) ผมอยากเล่าเรื่องฟื้นฟูป่าชายเลนให้เพื่อนธรณ์ เพราะนี่แหละคือความหวังครั้งใหม่ของทะเลไทย
ขอย้อนอดีตเมื่อ 60 ปีก่อน ไทยเคยมีป่าเลน 2.3 ล้านไร่ ในปี 2504
จากนั้นจึงเกิดการทำลายป่า ทั้งนากุ้งทั้งการขยายชุมชน ฯลฯ จนในปี 2543 เราเหลือป่าอยู่ 1.58 ล้านไร่
หากดูภาพประกอบ ภาพแรกปี 2000 นั่นแหละคือช่วงนั้น เรายังพอเห็นสีเขียวอยู่บ้าง
(จุดสีแดง ขาว น้ำเงินคือจุดอ้างอิง ตำแหน่งตรงกันทุกภาพครับ) ปี 2547 เราเหลือป่า 1.46 ล้านไร่
เพื่อนธรณ์ดูภาพที่สอง ปี 2002 ป่าสีเขียวบางส่วนหายไป กลายเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยง (จุดขาว)
เวลาผ่านมา เราเริ่มจริงจังมากขึ้น จนสุดท้ายเรามีเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามยุทธศาสตร์ชาติ 55%
ภาพที่สาม ปี 2021 เราเริ่มปลูกป่ากลับไปในพื้นที่ยึดคืนมาได้ เริ่มเห็นสีเขียวบางส่วนด้านใต้ของภาพ (จุดน้ำเงิน)
แต่ยังมีพื้นที่โล่งกว้างอีกมากที่เป็นนากุ้งร้างๆ ที่ยึดคืนมาได้
เพราะเราไม่มีงบพอปลูก ภาครัฐจะเอาเงินมาจากไหน ? โดยเฉพาะช่วงนี้และต่อจากนี้ที่งบถูกลดตามผลกระทบโควิด
แค่ดูแลรักษาลาดตระเวนอย่างเดียวก็ย่ำแย่แล้ว
ผลที่เกิดขึ้นคือเรายึดคืนป่าเลนที่ถูกบุกรุกได้ แต่ไม่มีเงินปลูก ทิ้งไว้เป็นบ่อกุ้งร้างๆ
เราอยากได้ป่า อยากได้สัตว์ อยากได้แหล่งอนุบาลแหล่งอาหาร เราไม่ได้อยากได้นากุ้งร้าง
คำตอบคือต้องขอแรงเอกชน ผ่านทาง CSR โครงการต่างๆ แต่เอกชนจะช่วยได้แค่ไหน ?
กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวคงไม่ได้งบมากมาย เพราะแทบไม่เห็นผลตอบแทนกลับคืนมาเป็นเม็ดเงิน
ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แค่เอาตัวรอดก็เหนื่อยแล้ว โครงการที่ไม่ชัดเจนคงรอดยาก
ผมอยู่ในคณะปฏิรูปประเทศ ทราบดีว่าเปลี่ยนอะไรต้องมีคานงัด จุดพลิกผันที่ไม่ใช่แค่ฝันไปอย่างเดียว
เคราะห์ดีที่เรามี นั่นคือโลกร้อน สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงรุนแรง ทำให้คนทั้งโลกตกใจ และเกิดมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกแบบเข้มข้น
หลายองค์กรขนาดใหญ่ในไทยเริ่มเซ็ตปี Carbon Neutral ลดคาร์บอนในกิจการ ที่เหลือก็หาทางดูดซับ/กักเก็บ
ป่าชายเลน/หญ้าทะเลคือ Blue Carbon มีกลไกที่ทรงพลังกว่าระบบนิเวศบนบกหลายเท่า
เมื่อกติกาในการสนับสนุนเอกชนฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อคาร์บอนเครดิตเริ่มชัดเจนขึ้น นั่นเป็นทางออกที่ทำได้ไม่ใช่แค่ฝัน ไม่งั้น
เราจะเอางบฟื้นฟูมาจากไหน ?
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานกลางของไทยในเรื่องนี้ เริ่มผลักดันกติกาใหม่ๆ เพราะในอีกไม่นาน ประเทศต่างๆ จะเริ่มกำแพงภาษีคาร์บอน เช่น CBAM ของยุโรป
เราไม่ทำอะไร เราไปต่อไม่ได้ในโลกของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
โลกที่คำว่ารณรงค์มีความหมายน้อยลง มาตรการการเงินการลงทุนมีความหมายมากขึ้น
หากยังไม่มั่นใจว่าใช่ ผมขอเสนอราคาในตลาด carbon emission ในช่วง 1 ปีเพิ่ม 159%
ยิ่งดูในระยะสั้นยิ่งก้าวกระโดด ก่อน COP26 ราคาเฉลี่ย 60 เหรียญต่อตัน
ผ่านไปไม่กี่วัน ราคากระโดดไป 70 ยูโร/ตัน (2,590 บาท)
นั่นคือตัวเร่งที่จะเกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งโลก เพราะมูลค่าคาร์บอนที่ดูด/กักเก็บมันสูงมาก และจะยิ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังมองไม่เห็นจุดพีค
องค์กรใหญ่ๆ ในไทยเริ่มประกาศปีเป้าหมาย เริ่มมีหลายแห่งขยับตัวเตรียมก้าว หนึ่งในนั้นคือกฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
จุดที่เห็นชัดคือเลิกพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่มีการสร้างอีกแล้ว เปลี่ยนไปทำ Floating Solar แทน
แต่ยังไงก็ยังมีก๊าซธรรมชาติ จำเป็นต้องใช้การดูด/กักเก็บโดยระบบนิเวศ นั่นคือที่มาของปลูกป่าล้านไร่ เป็นป่าชายเลน 200,000 ไร่
โครงการนี้เซ็น MOU ระหว่างกฟผ./กรมป่าไม้/กรมอุทยาน/กรมทะเล ดังที่ผมเคยเล่าให้ฟัง
จากนั้นคือการคิกออฟ นั่นคือเหตุผลที่ผมไปชุมพร เพราะรอมานานมากกับการฟื้นป่าครั้งนี้
ไม่เคยออกมาเรียกร้องให้ปลูกป่ามากมาย เพราะร้องไปก็รู้ดีว่าไม่มีงบ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ สถานการณ์มันเปลี่ยน
เฉพาะที่ลงมาชุมพร กฟผ.ปลูก 1,300 ไร่ และเตรียมปลูกเพิ่มอีก 3,000 ไร่ ตามที่จังหวัดชุมพรหาที่ยึดคืนมาให้ได้
ที่สำคัญคือปลูกแล้วต้องขึ้น เท่าที่ลงไปเช็คดูคร่าวๆ อัตรารอด 50-60% คงต้องปลูกแซมบ้างครับ
นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำทุก 1-3 ปี และสำคัญสุดคือให้ชาวท้องถิ่นมาช่วยกัน สนับสนุนคนริมทะเลให้มีแรงมีงบในการดูแล
ไม่เพียงแค่คาร์บอน ยังรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ เช่น Bio-banking, Biodiversity Offset ฯลฯ
เทรนด์โลกมาแรงครับ มีศาสตร์ใหม่ๆ ผสมผสาน เศรษฐกิจ/ระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อม เราต้องตามให้ทัน
ผมคงเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังไม่ได้หมด แต่บางส่วนจะนำไปพูดในเสวนาวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งใหญ่ตอนสิ้นเดือน เอาไว้จะมาบอกช่องทางเข้าฟัง
สุดท้ายคือดีใจมากที่ชุมพรเป็นจุดเริ่มของโครงการปลูกป่าล้านไร่ (ป่าเลน 2 แสนไร่)
เพราะชุมพรคือทะเลสุดยอด แม้จะโดนแทะเล็มไปบ้าง แต่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับที่อื่น
บทเรียนต่างๆ ที่เราเคยรู้ ความผิดพลาดจากการฟื้นฟูในอดีตจะถูกนำมาปรับปรุง
เช่น ถุงดำที่ใช้ในการเพาะชำ ตอนนี้ใช้วิธีเก็บรวมกันมาทิ้ง แต่ในอนาคตอาจมีนวัตกรรม มีวัสดุใหม่ๆ ที่ใช้ได้ในโลกจริง
ที่สำคัญ ผมยังเห็นอนาคต
เห็นจากคำที่ท่านรองผู้ว่ากฟผ. บอกกับท่านรองผู้ว่าชุมพร “มีเท่าไหร่ส่งมาเรื่อยนะคะ ยินดีสนับสนุนให้”
ตลอดเวลาหลายสิบปีในการทำงาน ผมเคยได้ยินแต่คนอยากปลูกขอเงินจากแหล่งทุน จากนั้นก็เศร้า
เป็นครั้งแรกๆ ที่ผมได้ยินแหล่งทุนยินดีสนับสนุนการปลูกในพื้นที่ยึดคืนมาได้แบบไม่อั้น
โลกร้อนคือวิกฤต แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาส
และนี่คือโอกาสสำคัญของการคืนความเขียวขจีให้ชายฝั่งไทย อย่างที่เราฝันกันไว้มาตลอดครับ
บทความโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล, รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข้อมูลอ้างอิง
Facebook.com/thon.thamrongnawasawat