เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.2564) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชโพสต์คลิปฉลามบุก ! ฝูงฉลามหูดำ (ฉลามครีบดำ) เกือบร้อยตัว แหวกว่ายอยู่หน้าหาดอ่าวมาหยา จ.กระบี่ ในฤดูผสมพันธุ์ บ่งบอกธรรมชาติใต้ท้องทะเลฟื้นฟูดีขึ้น หลังสั่งปิดเกาะนาน 3 ปี (ถ่ายคลิปโดยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง)
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์แสดงความปลาบปลื้ม ยกเป็นคลิปทะเลแห่งปี พร้อมชวนเพื่อนธรณ์ (แฟนเพจ) ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทะเลว่า
คลิปที่เพื่อนธรณ์กำลังเห็นอยู่นี้ บอกได้คำเดียวว่าสุดยอด อยากให้ดูจนจบทุกคน เพราะนี่แหละคือคลิปทะเลแห่งปี
เป็นผลงานล่าสุดของศูนย์วิจัยจังหวัดตรัง กรมอุทยานฯ ทำการสำรวจอ่าวมาหยาเมื่อ 2 -3 วันก่อน
ปลาที่เพื่อนธรณ์เห็นเป็นจุดๆ คือฉลามครีบดำที่เข้ามาอาศัยในอ่าวมาหยา
นับได้กี่ตัวครับ ? ผมนับคร่าวๆ ได้ร่วมร้อย ขอเชิญเพื่อนธรณ์ช่วยกันนับและใส่ผลลัพธ์ไว้ในคอมเมนต์
ทะเลที่มีฉลามเกินร้อยตัว ในพื้นที่โดรนบินไกล 130 เมตร ถามว่ามีที่ไหนบ้าง ?
อย่าว่าแต่ในเมืองไทยเลยครับ เมืองนอกก็ยังคิดไม่ออกว่าเห็นฉลามเยอะจนเหมือนลูกครอกปลาช่อนแบบนี้ที่ไหน ?
เน้นย้ำเสมอว่า อ่าวมาหยาคือสวรรค์ คือสิ่งที่พิเศษสุดของธรรมชาติ
ฉลามครีบดำเหล่านี้เข้ามาหากินเป็นระยะ และอาจเกี่ยวกับการสืบพันธุ์/ออกลูก เพราะนักวิจัยเคยเห็นแม่ฉลามกำลังคลอดไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง
ตั้งแต่ปิดฟื้นฟูอ่าวมาหยา นักดำน้ำนักท่องเที่ยวรอบพีพีคงพอบอกได้ว่า เห็นฉลามเยอะขึ้นอย่างชัดเจน ไปดำตรงนั้นตรงนี้ก็เจอเป็นประจำ
ไม่ต้องเข้ามาในมาหยา ก็เห็นฉลามจากมาหยาออกไปทักทายคนข้างนอก
อ่าวมาหยาจึงสำคัญต่อทะเลรอบด้าน โดยเฉพาะฉลามครีบดำ ผมกล้ากล่าวว่าที่นี่สำคัญสุดในทะเลไทย
เพราะแนวปะการังน้ำตื้นที่อยู่ในสภาพอ่าวเกือบปิด เป็นลากูนที่มีลักษณะพิเศษ ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการที่ทำให้ที่นี่มีเอกลักษณ์ เป็นแหล่งชุมนุมฉลาม
ใช้กี่ร้อยกี่พันล้าน มนุษย์ก็สร้างชุมนุมฉลามอย่างนี้ไม่ได้
เรากำลังจะเปิดอ่าวมาหยาในต้นปีหน้า กรมอุทยานนัดประชุมคณะที่ปรึกษากลางธันวาคม
สิ่งหนึ่งที่ผมยืนยัน คือเราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับทะเลในอ่าวมาหยาอีก
เปิดมาหยาไม่ได้หมายความว่า เปิดให้เรือเข้าได้เหมือนเดิม เปิดให้คนลงไปเล่นน้ำ ไปทำนั่นนี่
เปิดคือมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว เข้าได้เป็นรอบ ให้คนเข้าทางข้างหลัง เดินบนเส้นทางยกระดับ และที่สำคัญคือไม่ลงมาเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมใดๆ ในอ่าวเด็ดขาด
นอกจากเพื่อให้ฉลามปลอดภัย ยังหมายถึงความปลอดภัยของคนที่ไม่ควรลงไปในน้ำท่ามกลางฉลามร้อยตัว
จึงนำคลิปนี้มาให้ดู เพื่อตอบคำถามดังๆ ว่าฟื้นฟูอ่าวมาหยา 3 ปีเศษ ได้อะไรบ้าง
ได้สิ่งมหัศจรรย์ของโลกกลับคืนมาครับ
ข้อมูลอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ThonThamrongnawasawat
อีกคลิปหนึ่ง ซูมเข้ามาให้เห็น "ฉลามครีบดำ" ใกล้ๆ บริเวณหน้าหาดอ่าวมาหยา