xs
xsm
sm
md
lg

คพ. ผนึก กรมอุตุฯ มุ่งพัฒนาการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 แจ้งเตือนประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวานนี้ (19 พฤศจิกายน 2564) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกรมอุตุนิยมวิทยา (อต.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ร่วมลงนาม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ เครื่องมือตรวจวัดระบบประมวลผล และพัฒนาการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ใช้วางแผนบริหารจัดการและการแจ้งเตือนประชาชน


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ได้ให้นโยบายให้พัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 โดย คพ. ได้พัฒนาระบบการคาดการณ์คุณภาพอากาศ สำหรับใช้ประเมินสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยรับการสนับสนุนข้อมูลปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้การคาดการณ์สถานการณ์ปัญหา PM2.5 ของประเทศ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจ และวางแผนบริหารจัดการเพื่อตอบโต้สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว เพื่อการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งได้นำข้อมูลเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และสื่อออนไลน์ เพื่อรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศให้กับประชาชน

ด้านนายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดี อต. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมมือทางวิชาการและวิจัยด้านข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและมลพิษ ทั้งในเชิงวิชาการและปฏิบัติการ รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานทั้งสองและแก่ประชาชนทั้งในสภาวะปกติและสภาวะที่ประสบวิกฤติภัยต่างๆ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยทำให้การประมวลผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กของ คพ. สามารถคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศในพื้นที่สำคัญของประเทศได้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และ อต.จะใช้ข้อมูลการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 มาใช้ประกอบในการรายงานพยากรณ์อากาศด้วย

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปีแรกนับจากนี้ คพ. และ อต. มุ่งหวังว่าจะสามารถใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและความร่วมมือเชิงเทคนิค สำหรับการรับมือสภาวะที่ประสบวิกฤติภัยต่างๆ ซึ่งมีเป้าประสงค์หลักในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วประเทศ รวมถึงสามารถคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศ อื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารและจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น