xs
xsm
sm
md
lg

แผน 10 ปี แก้ปัญหาช้างป่า! กรมอุทยานฯ ยืนยันบูรณาการครบทุกมิติ 13 กลุ่มป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุทยานฯ เผยปัญหาหลักในการอนุรักษ์ช้างป่า ยังเป็นเรื่องการลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย และความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ 41 แห่งทั่วประเทศ (อุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 16 แห่ง)

ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 3,168-3,440 ตัว อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง และมีแนวโน้มว่าประชากรช้างป่าในภาพรวมจะเพิ่มจำนวนมากขี้น ประมาณร้อยละ 8.2 ต่อปี

เมื่อวานก่อน (11 พ.ย.2564) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว) ส่งผลกระทบให้กับชุมชนโดยรอบในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จำนวน 18 อำเภอ 45 ตำบล 292 หมู่บ้าน กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ “กิจกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่าที่สร้างผลกระทบต่อราษฎรนอกพื้นที่อนุรักษ์ สัตว์ป่า” ตามแผนงานยุทธศาสตร์จัดระบบอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมปศุสัตว์ ในการฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่งให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ เช่น การปรับปรุงและฟื้นฟูทุ่งหญ้า เนื้อที่ 2,000 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กและฟื้นฟูบ่อน้ำ จัดทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง (เป้าหมายแล้วเสร็จ ปี 2565) พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และหอถังบรรจุน้ำ พื้นที่แปลงทุ่งหญ้า สร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ระบบนิเวศ




สำหรับการจัดการปัญหาช้างป่าช่วงฤดูแล้งในทุกๆ ปี รวมถึงปีนี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ประสานงานกรมป่าไม้และ กรมทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างป่า ตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง โดยสร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงดูดให้ช้างกลับคืนสู่ป่าใหญ่ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า อาทิ จัดตั้งป่าชุมชน จัดทำแปลงปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และสร้างฝายชะลอน้ำและดักตะกอน และการจัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ป่า

อีกทั้งยังดำเนินการร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน และภาคเอกชนต่าง ๆ ในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่า และการปฏิบัติต่อช้าง การอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า การปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า และเยียวยาผู้ประสบภัยจากช้างป่า เช่น จัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า 49 เครือข่าย รอบพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant smart early warning system) ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เพื่อกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่และชุมชนต่าง ๆ โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไป

ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตามแนวดำเนินการจัดการและการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภายใต้แผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า พ.ศ. 2563-2572 (แผน 10 ปี) ครอบคลุมทุกพื้นที่กระจายของช้างป่าในประเทศไทยทั้ง 13 กลุ่มป่า ทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1) การจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประกอบด้วย การติดตามประชากรช้างป่า จัดทำและปรับปรุงสิ่งกีดขวาง การฟื้นฟูสภาพถิ่นอาศัยของช้างป่า (แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร) การศึกษาศักยภาพในการรองรับช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ 2) การจัดการนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน (อาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติ) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างเครือข่ายข้อมูลในการเฝ้าระวังภัยจากช้างป่า

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเพาะกล้าไผ่หนามเพื่อปลูกเป็นแนวรั้วแบบธรรมชาติแล้วในบางพื้นที่ พบว่าได้ผลดี โดยในปีแรกๆ ไผ่เหล่านี้จะเป็นอาหารช้างไปในตัว ช้างจึงไม่รู้สึกว่าเป็นรั้วหรือถูกขัง เมื่อช้างโตขึ้นจะไม่สามารถผ่านออกมาได้ หรือหากผ่านได้ในบางจุด ช้างจะไม่รู้สึกเครียดจากสิ่งกีดขวางดังกล่าว จึงลดความดุร้ายลงได้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้เวลา 4-5 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น