กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่าWildlife Research Division เผยข้อมูลการศึกษาวิจัยช่วงชั้นอายุของกระทิงและวัวแดง ที่ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่า “เสือโคร่ง” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (Age Class of Gaur and Banteng as Prey of the Tiger in Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary)
ผลการศึกษาช่วงชั้นอายุของกระทิงและวัวแดงที่ตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ดำเนินการในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อทราบถึงสัดส่วนของช่วงชั้นอายุกระทิงและวัวแดงที่ถูกล่าโดยเสือโคร่ง ดำเนินการโดยสำรวจเก็บตัวอย่างกระดูกขากรรไกรจากซากกระทิงและวัวแดงที่เสือโคร่งติดปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียมจำนวน 24 ตัว ที่ล่าไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2548 - 2560 รวม 161 ตัวอย่าง เป็นกระทิง 82 ตัวอย่าง และวัวแดง 79 ตัวอย่าง
นำมาจำแนกอายุโดยการใช้ลำดับการเจริญของฟันและการนับวงปีเคลือบรากฟัน จำแนกอายุกระทิงและวัวแดงออกเป็นเหยื่อโตเต็มวัย (อายุมากกว่า 3 ปี) และก่อนโตเต็มวัย (ตั้งแต่เกิดถึง 3 ปี)
พบว่า กระทิงและวัวแดงโตเต็มวัย ตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่งสูงกว่าเหยื่อก่อนโตเต็มวัย และส่วนใหญ่เป็นเหยื่อโตเต็มวัยเพศเมีย
สำหรับเหยื่อโตเต็มวัยที่ตกเป็นเหยื่อนั้น ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 11 ปี ส่วนเหยื่อก่อนโตเต็มวัยจะเป็นตัวที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่ตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ในสัดส่วนที่สูงกว่าพวกที่มีอายุ >1 - 3 ปี
ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ากระทิงและวัวแดงเป็นชนิดเหยื่อที่สำคัญต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งและการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
ข้อมูลที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่าWildlife Research Division
ClipCr.Thailand Tiger Project DNP
วัวแดงในคลิป เหยื่อโปรดของเสือโคร่ง มีผลตรวจยืนยันว่ามันเป็นโรคลัมปิสกิน แต่การตายของมันครั้งนี้เพราะถูกเสือโคร่งล่า เป็นอาหาร โดยมีร่องรอยบาดแผลจากการถูก กัด และ ตบ เป็นสิ่งยืนยัน
นอกจากเสือโคร่งแล้ว เห็นได้ว่า มีสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมรับประโยชน์และช่วยกันทำหน้าที่กำจัด “วัวแดงไม่อนามัย” ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามธรรมชาติ
“ลัมปิสกิน” เป็นโรคติดต่อที่พบในสัตว์เลี้ยงพวก วัว ควาย แต่ตอนนี้มันเดินทางสู่วัวแดงธรรมชาติแล้ว และยังไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อธรรมชาติอย่างไร