xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยันผลชันสูตร! ซากวัวแดงห้วยขาแข้ง 2 ตัว ติดโรคลัมปี สกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลชันสูตรชิ้นเนื้อจากซากวัวแดง 2 ตัว พบว่าป่วยเป็น"โรคลัมปี สกิน" หลังจากพบซากเมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการตามมาตรการและประสานทุกภาคส่วนเฝ้าติดตามสถานการณ์และดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด

วันนี้ (22 ตุลาคม 2564) นายธวัชชัย เพชระบูรณิน รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยผลการชันสูตรชิ้นเนื้อจากซากวัวแดงที่เสือโคร่งล่าเป็นอาหาร ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งพบซากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าเป็นโรคลัมปี สกิน

ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้รับรายงานผลการวินิจฉัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก แจ้งผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus (LSDV) จำนวน 1 ตัวอย่าง สรุปการวินิจฉัยได้ว่า วัวแดงป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease)

โดยซากวัวแดงดังกล่าว เป็นเพศผู้ อายุประมาณ 2 ปีครึ่ง - 3 ปี ลักษณะของซากยังใหม่ และมีร่องรอยถูกเสือโคร่งกินบริเวณสะโพกของวัวแดง และตามผิวหนังตรวจพบร่องรอยคล้ายโรคลัมปี สกิน นายสัตวแพทย์จึงได้เข้าทำการตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและเลือดของซากวัวแดงดังกล่าว นำส่งชันสูตรที่ห้องปฏิบัติการ


นอกจากนี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังพบซากวัวแดงอีก 1 ตัว บริเวณใกล้จุดสกัดที่ 2 คลองขุนชาติ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการ และทราบผลการชันสูตรว่าซากวัวแดงดังกล่าวป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เช่นเดียวกัน

ขณะนี้ ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ประสานงานกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ให้ดำเนินการติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มข้น มีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ และจัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบนำปศุสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่ใกล้แนวเขต ให้นำกลับไปเลี้ยงใกล้พื้นที่ชุมชน

ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่คอยลาดตระเวนเพื่อตรวจสอบ สังเกตอาการของสัตว์ป่าในกลุ่มวัวป่าและควายป่า ในพื้นที่ ซึ่งผลการลาดตระเวนล่าสุดยังไม่พบสัตว์ป่าในกลุ่มวัวป่าและควายป่าตายผิดปกติแต่อย่างใด แต่ก็ได้ทำการฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ตามยานพาหนะ และจัดทำบ่อจุ่มเท้าฆ่าเชื้อโรคของบุคคลที่เข้ามายังสำนักงานเขตฯ โดยดำเนินการที่ด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก

พร้อมกันนี้ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า บริเวณด่านสัตว์ โป่ง ที่มีร่องรอยของวัวแดงผ่าน และติดตั้งกับดักแมลงพาหะเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อลัมปี สกิน โดยมีคณะสัตวแพทย์จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน ถ่ายทอดความรู้และเทคนิคที่ถูกต้องในการทำโป่งเทียม เพื่อเป็นแหล่งเสริมธาตุอาหาร และคลังยา เป็นการช่วยเพิ่มความต้านทานโรคให้แก่สัตว์ป่า

และยังประสานงานกับปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี ปศุสัตว์อำเภอลานสัก ปศุสัตว์อำเภอห้วยคต ปศุสัตว์อำเภอบ้านไร่ เพื่อสอบถามสถานการณ์ระบาด แนวทางการเฝ้าระวังป้องกัน การทำวัคซีนและมาตราการดำเนินงานของปศุสัตว์ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปศุสัตว์จังหวัดตาก จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

รวมทั้งแจ้งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เพื่อแจ้งต่อให้อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติพุเตย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทางทิศใต้ และแจ้งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) แจ้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทางทิศเหนือและทิศตะวันตก ดำเนินการเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน และหากพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงขอให้แจ้งให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทราบทันที

“ดังนั้นหากพบสัตว์ป่าป่วย หรือซากสัตว์ป่า มีตุ่มขนาดใหญ่ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และช่วงขา รวมทั้งสัตว์ป่าที่มีอาการเดินกะเผลก ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์เข้าดำเนินการตรวจสอบ เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อจะยืนยันถึงสาเหตุของการป่วยหรือตาย และจัดการทำลายซากโดยวิธีการฝังกลบและโรยปูนขาวตามหลักวิชาการ” นายธวัชชัยกล่าว

ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช



กำลังโหลดความคิดเห็น