xs
xsm
sm
md
lg

ต้นคลุ้ม คุ้มมาก!! พืชพื้นถิ่นตามพื้นที่ชุ่มน้ำเมืองคอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





“ต้นคลุ้ม” พืชพื้นถิ่นใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างพื้นที่ใกล้ลำธาร ริมคลอง หรือ ท้องนา ซึ่งเป็นพืชที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างเครื่องจักสานรูปแบบต่างๆ มาช้านาน

แต่เนื่องจากการผลิตจักสานคลุ้มนั้นต้องใช้ความพิถีพิถัน และละเอียดอ่อน จึงทำให้ในปัจจุบันมีผู้ผลิตคลุ้มลดลงอย่างมาก

เหตุผลดังกล่าว มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลที่เอ็กโก กรุ๊ป ก่อตั้ง และสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของประเทศ เล็งเห็นความสำคัญ และประโยชน์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงเข้ามาดำเนินการสนับสนุนงาน “จักสานคลุ้ม” จนกลายมาเป็นงานผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน ที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากขึ้นถึง 80% ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ดิน และน้ำ พร้อมรักษาระบบนิเวศในผืนป่าอีกด้วย


คลุ้ม ...คุ้มทั้งต้น

หากพูดถึงผลิตภัณฑ์จักสาน หลายคนคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้นิยมอย่าง ต้นหวาย หรือ ต้นไผ่ แต่สำหรับเอกลักษณ์ของ “จักสานคลุ้ม” ที่โดดเด่นจากพืชชนิดอื่นคือ ความแข็งแรง คงทน ไม่มีมอด ไม่ขึ้นรา อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงเป็นอีกหนึ่งไม้นิยมที่มีการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สมัยก่อน

เห็นอย่างนี้ แต่สารพัดประโยชน์จริงๆ เพราะนอกจากลำต้นแล้ว คลุ้มยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ทั้งต้น เช่น ใบที่มีเส้นใยเหนียว ไม่ห่อตัว จึงเหมาะสำหรับใช้เพื่อการห่ออาหาร รวมทั้งหัวใต้ดินก็ยังมีประโยชน์สามารถนำไปปรุงเป็นสมุนไพร แก้ผื่น ตุ่ม ผด โรคผิวหนังได้อีกด้วย


ลงทุนไม่สูง แต่ผลตอบแทนสุดคุ้มหลายเท่าตัว
สร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมสืบทอดงานหัตถกรรมท้องถิ่น

เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากคลุ้ม ชาวบ้านในชุมชนจึงได้มารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งใน อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ในโครงการหมู่บ้านไทยรักษ์ป่า ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างรายได้แล้ว ยังได้ช่วยสืบสานงานหัตถกรรมชุมชน รวมถึงเป็นการอนุรักษ์พืชที่มีคุณค่าของท้องถิ่นอีกด้วย


กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งใน เริ่มแรกเกิดจากการรวมตัวด้วยคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือการพัฒนาพืชต้นน้ำ ที่ไม่จำเป็นลงทุนสูง แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้หลายเท่าตัว หลังจากผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย และคนในพื้นที่ได้เห็นผลว่าขายได้จริง ทำให้ในปีถัดมาจึงมีสมาชิกในกลุ่มจึงเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ “ต้นคลุ้ม” สามารถปลูกในสวนยางพารา หรือสวนผลไม้ได้ โดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านอีกด้วย
เพื่อพัฒนา ‘คลุ้ม’ ให้ ‘คุ้มค่า’ กลุ่มชุมชนจึงต้องการองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตลาดที่มากขึ้น รวมถึงมีความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นจนทำให้วัตถุดิบขาดแคลน

มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เข้ามาออกแบบหลักสูตรสำหรับแก้ไขปัญหาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทั้งทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทักษะด้านการตลาด ทักษะการทำบัญชี และการเงิน และหลักสูตรเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ เพื่อลดพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว

สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งได้เริ่มกำหนดเป้าหมาย พร้อมดำเนินการร่วมกับอาจารย์จิรวัฒน์ บุญสมบัติ นักพัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน เจ้าของแบรนด์ Craftroom และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ด้วยมุ่งหวังความเข้มแข็ง และยั่งยืนของชุมชน และผืนป่า ไปพร้อม ๆ กับอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น

โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังคงยืนยันที่จะส่งเสริมความร่วมมือของชุมชนในการพัฒนาอาชีพ ร่วมกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อไป