xs
xsm
sm
md
lg

WWF เตือน!! หยุดซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกมฎหมาย พบธุรกรรมบนโซเชียลมีเดียกว่า 11.6 ล้านรายถูกลบทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ WWF Thailand ให้ข้อมูลว่า โฆษณาซื้อขายสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเซีย และธุรกรรมบนโซเชียลมีเดียมากกว่า 11.6 ล้านรายการถูกลบทิ้ง หลังเครือข่ายพันธมิตรเพื่อยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์ ตรวจพบการจัดจำหน่ายสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นานาชนิด เช่น เสือ จระเข้ ลิง นก ตัวนิ่ม งาช้าง และเต่าทะเล ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์และยังมีชีวิตอยู่

แม้เฟซบุ๊กจะเคยประกาศห้ามจำหน่ายสัตว์ป่าบนแพลตฟอร์มไปก่อนหน้านี้ แต่ในปี พ.ศ.2563 WWF พบว่า มีการขายสัตว์ป่าบนเฟซบุ๊ก เฉพาะจากประเทศพม่า มากถึง 2,143 ตัว จากทั้งหมด 94 สายพันธุ์ โดยโพสต์มากถึง 92% เสนอขายสัตว์ที่ยังมีชีวิต ได้แก่ นก ชะนี ค่าง แมวป่า รวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างนกเงือก

ในขณะที่ผลการศึกษาขององค์กร TRAFFIC ระบุว่า มีการขายงาช้างมากกว่า 2 พันกิ่งในอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทยผ่านทางเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม

เครือข่ายพันธมิตรเพื่อยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์ หรือ Coalition to End Wildlife Trafficking Online เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2561 นำโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เครือข่ายติดตามการค้าสัตว์ (TRAFFIC) และกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (IFAW)

ปัจจุบัน เครือข่ายมีสมาชิกเข้าร่วมมากกว่า 47 องค์กร รวมถึงแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ชื่อดังหลายแห่ง เช่น Alibaba, eBay, Etsy, Facebook, Google, Instagram, Microsoft, Pinterest และ Tiktok ซึ่งในปัจจุบัน ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า หรือสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะงาช้าง, นอแรด และหนังเสือ รวมถึงกลุ่มผู้สนใจสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์หายาก หรือ Exotic Pet

เครือข่ายพันธมิตรเพื่อยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์ พยายามสร้างคอนเทนต์เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ใช้งานโซเซียล เพื่อให้ความรู้กับผู้ใช้งานโซเซียลว่า สัตว์บางประเภทที่คนนิยมหาซื้อมาเลี้ยง หรือหาผลประโยชน์นั้น อาจเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงหรือขายได้ และหากมีไว้ครอบครอง อาจมีบทลงโทษทางกฎหมาย

บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อของและสื่อสังคมออนไลน์ในเครือข่ายมีการจัดอบรมเรื่องการค้าขายสัตว์ป่าแก่พนักงาน รวมถึงพัฒนาอัลกอริทึมของเว็บไซต์และแอปให้ช่วยตรวจจับคีย์เวิร์ดในภาษาต่างๆ ที่เข้าข่ายการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย

ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า มีแต่บ่อนทำลายระบบนิเวศโลก และความพยายามในการคุ้มครองสัตว์ป่าหายากของนักอนุรักษ์ อีกทั้ง เพิ่มความเสี่ยงของโรคที่แพร่จากสัตว์ป่าสู่คนได้

สำหรับทุกคนมีส่วนร่วมในการยับยั้งและยุติ “อาชญากรรมข้ามชาติ” ได้ ด้วยการ ‘รายงาน’ (Report) ทุกครั้ง เมื่อพบพฤติกรรมเข้าข่ายค้าขายสัตว์ป่าบนช่องทางออนไลน์

ที่มา – WWF Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น