xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม เห็นพ้อง! ควรทบทวนและปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย คพ. ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ถึงเวลาติดดาบกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือยัง” โดยมีนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา ประกอบด้วย นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต อาจารย์ประจำสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นายสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นายสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชน มูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการเสวนา

นายอรรถพล กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นปัญหาซ้ำซาก ผู้จงใจกระทำผิด ตั้งใจปล่อยมลพิษ ปล่อยกากของเสียวัตถุอันตราย และน้ำเสียจากโรงงาน เป็นความเสียหายใหญ่ต่อทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูยากและใช้งบประมาณมหาศาล ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษและปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมออกมานานแล้วซึ่งไม่ทันกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คพ. จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาให้ความรู้และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดมุมมอง แนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม

จากมุมมองและข้อเสนอแนะของวิทยากรที่เข้าร่วมเสวนา เห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องทบทวนและปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้มีมาตรการที่เด็ดขาด สามารถหยุดการปล่อยมลพิษและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วที่สุด เยียวยาประชาชนได้ทันท่วงที การปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อมให้เป็นงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ มีบทลงโทษที่รุนแรงและเหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กรมควบคุมมลพิษให้มีอำนาจเด็ดขาดในการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถเข้าดำเนินการแก้ไขจัดการปัญหามลพิษได้ทันทีเหมือนอย่าง U.S. Environmental Protection Agency | (US.EPA) ของสหรัฐอเมริกา และเพิ่มบทบาทให้องค์กรภาคประชาชนในการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมจะเป็นเครื่องมือที่ทำคัญที่จะช่วยเหลือประชาชนได้พ้นจากปัญหามลพิษ ซึ่ง คพ. จะเร่งผลักดันให้มีทบทวนและปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น