xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงแก้ไขปัญหาน้ำจากฟาร์มหมูทะลักเข้าพื้นที่เกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชบุรี - อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำฟาร์มหมูเข้าพื้นที่เกษตรกร พร้อมทั้งเตรียมบังคับใช้กฎหมายกับทุกฝ่ายหากไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลง

วันนี้ (7 ต.ค.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย พล.ต. ภัทราวุฒิ ชุณหะวัณ รองผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. ดร.สุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค8 นายสมศักดิ์ พลายมาต ผอ.ควบคุมคุณภาพสนง.สิ่งแวดล้อมภาค 8 นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอจอมบึง นายชาญชัย ใช่รุ่งเรือง นายกเทศมนตรีเมืองจอมพล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ

กรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนการประกอบกิจกิจการฟาร์มสุกรของบริษัทศุภฤกษ์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 29/2 หมู่ที่ 9 ต.จอมบึง อ.จอมบึง มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำและสร้างคันดินปิดกั้นทางน้ำ เมื่อถึงช่วงหน้าฝนน้ำที่ถูกกักเก็บไว้มีการไหลลงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง และเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายปี

โดยได้มีการประชุมหารือและวางแผนในการแก้ไขปัญหา ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองจอมพล โดยได้มีการลงมติที่ประชุม พร้อมทั้งเซ็นต์หนังสือ รับทราบ จากทุกฝ่าย โดยให้ทางผู้ประกอบการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองในการแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำได้ตามมาตรฐาน และหากเมื่อครบกำหนดคำสั่ง (28 ต.ค.64) แล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้ สสภ. 8 ดำเนินการปรับ นอกจากนี้ยังให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับทุกฝ่าย หากไม่สามารถดำเนินการตามหนังสือที่ได้ลงมติไปแล้ว

นายอรรถพล กล่าวว่า หลังจากได้มีประชาชนได้ร้องเรียนเรื่องผู้ประกอบการฟาร์มหมู ซึ่งมีปัญหากันมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ทั้งปัญหาการจัดการน้ำเสีย ในวันนี้ได้ประชุมหารือกับทุกฝ่าย โดยมีหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลจากการประชุมพบว่าจากกรณีที่มีปัญหาน้ำเสียที่มีการรั่วไหลออกมาจากพื้นที่บริเวณฟาร์มก็ยังมีอยู่ และมีการตรวจวัดมาตรฐานของน้ำไป ทางกรมควบคุมมลพิษก็ได้มีการบังคับใช้กฎหมายและใช้อำนาจในการปกครองในการออกคำสั่งให้แก้ไข ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขก็จะมีการปรับตามกฎหมาย

สำหรับท้องถิ่นหรือทางเทศบาลเองก็ได้ขอให้บังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่ตั้งแต่เบาไปหาหนัก ตั้งแต่แจ้งเตือนการปรับปรุงจนไปถึงบังคับใช้ หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะพิจารณาการใช้อำนาจกฎหมายที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนของการปกครองและทางคดีอาญา นอกจากนั้นแล้วทางกรมควบคุมมลพิษก็จะช่วยเหลือประชาชนในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรวมไปถึงในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

ซึ่งทั้งหมดนั้นได้มีกำหนดให้เส้นตายวันที่ 28 ต.ค. จะต้องมีการดำเนินการโดยเด็ดขาดตามที่ได้คุย และ ได้ทำบันทึกเอาไว้ ซึ่งหลังจากวันที่ 28 ต.ค. จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ เราจะบังคับใช้กฎหมายในทุก ๆ กรณีและทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่กระทำความผิด ผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้คุยกันไว้ ซึ่งเราได้กำหนดมาตรการไว้และมีบันทึกไว้แต่ละข้อ พร้อมทั้งได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

"เราจะมีการประชุมไตรภาคีจากหลาย ๆ ฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้นทางบริษัทยินดีและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องของการรั่วซึมรั่วไหลยอมรับว่าจะไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียออกไปจากขอบเขตฟาร์ม ซึ่งจะดูความคืบหน้าต่อไปว่าภายในวันที่ 28 นี้ ถ้าดูแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น"










กำลังโหลดความคิดเห็น