เมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม 2564) นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของไทย” หรือ “Species diversity assessment of amphibians on north-west Thailand” นำโดย ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้ผู้ร่วมวิจัยโครงการ นายฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
จากการศึกษาวิจัยดังกล่าว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้ค้นพบ กบชนิดใหม่ที่มีการรายงานการกระจายพันธุ์เข้ามาในเขตพื้นที่ประเทศไทยอีก 1 ชนิด คือ กบอกหนามน่าน (Quasipaa veucospinosa) ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายคางคก และคล้ายกับเพื่อนร่วมสกุล ที่พบในแถบภาคตะวันออก คือ กบอกหนามจันทบูร (Quasipaa fasciculispina) แต่มีหลายอย่างที่แตกต่างกันชัดเจน โดยนำไปเผยแพร่ลงในวารสาร BiodiversityData Journey เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564
โดยปกติแล้วกบชนิดนี้จะพบในประเทศลาว เวียดนาม และมณฑลยูนนานของประเทศจีนเท่านั้น ส่วนที่มาของชื่อ "กบอกหนาม" นั่นเพราะลักษณะเด่นของกบในกลุ่มสายพันธุ์นี้ ในเพศผู้เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ผิวหนังบริเวณอกของพวกมันจะเปลี่ยนสภาพเป็นตุ่ม หรือแท่งหนามสีดำ เพื่อใช้ยึดเกาะเพศเมียในการสืบพันธุ์ และยึดพื้นผิวหินในลำธารที่มีน้ำไหลได้ โดยตุ่มหรือหนามเหล่านี้จะหายไปเมื่อพ้นฤดูกาลสืบพันธุ์
ในการค้นพบดังกล่าว มีส่วนสำคัญต่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกบ ถือเป็นองค์ความรู้และชี้ให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศป่าในพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ได้มีการศึกษาพันธุกรรมสัตว์ใหม่ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่องานวิจัย อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช