อพท.ชูท่องเที่ยวโดยชุมชน ยกระดับชุมชนไปสู่ความเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ด้านการท่องเที่ยว นำคนในชุมชนหรือเยาวชนของชุมชนมาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแบบ SE
คงปฎิเสธไม่ได้ว่าทุกฝ่าย หลายหน่วยงาน รวมถึงประชาชนกำลังนับถอยหลังถึงวันเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แม้ว่าจะยังมีความกังวลกันอยู่บ้างถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังไม่หยุดนิ่ง แต่หากพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนผู้รักษาหายเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนก็มีเพิ่มขึ้น
ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็มีการเตรียมความพร้อม เพื่อรอรับนักท่องเที่ยวกลับมา เพราะธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับอานิสงฆ์จากการเปิดประเทศ และจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพลิกฟื้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานที่ธุรกิจจะกลับมาพลิกฟื้นได้
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท กล่าวว่า ชุมชนที่ อพท. ดูแลกว่า 270 ชุมชนทั่วประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และใช้องค์ความรู้ดังกล่าวพัฒนาและยกระดับชุมชนบนพื้นฐานอัตลักษณ์ เพื่อทำการท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริม
ดังนั้น แม้ชุมชนจะขาดรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หัตถกรรม และชุมชนยังได้ใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่ อพท. เคยพัฒนาให้ความรู้กับชุมชน ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มานำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ชุมชนยังคงมีรายได้จากการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางดังกล่าว และจากผลการสำรวจรายได้ของชุมชนจำนวน 116 ชุมชน ที่ อพท. ดูแล พบว่า ในปี 2564 มีรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นจำนวนเงินรวม 51.9 ล้านบาท โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการนำเสนอขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวมีสัดส่วนที่น้อยมากจากวงเงินรายได้ดังกล่าวเนื่องจากไม่มีการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา
ผู้อำนวยการ กล่าวด้วยว่า อพท. ได้ใช้ช่วงเวลาที่ชุมชนไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยว ดำเนินการพัฒนาและยกระดับให้กับชุมชนเพิ่มเติม โดยใช้วิธีอบรมผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการทำการตลาด ได้แก่ ยกระดับทักษะการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การคิดต้นทุนและราคา การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว และการเลือกกิจกรรมท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ การออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับสุขอนามัย รวมถึงการจัดกิจกรรม Virtual tour และ Virtual Business Matching เพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับผู้ประกอบการในธุรกิจนำเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย
ล่าสุด อพท. ได้ยกระดับชุมชนไปสู่ความเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ด้านการท่องเที่ยว โดยการนำคนในชุมชนหรือเยาวชนของชุมชนมาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแบบ SE เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในสถานการณ์ช่วงนี้ ภาคแรงงานโดยเฉพาะเยาวชนที่สำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ โอกาสในการหางานทำได้น้อยมาก ธุรกิจต่างๆ พยายามรัดเข็มขัด บางที่ถึงขั้นปลดพนักงานออก ดังนั้น โครงการเกี่ยวกับการสร้าง SE จึงเป็นโอกาสให้กับกลุ่มคนหรือเยาวชนเหล่านี้จะมาช่วยขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนและในส่วนของ อพท. ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในภาวะวิกฤตโควิด เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนท่องเที่ยวให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวหลังโควิดคลี่คลายได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานต่อไป