วันนี้ (11 ตุลาคม 2564) นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา กล่าวปาฐกถาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดงาน Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Leadership for Climate Actions)” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์
ที่น่าสนใจ เป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน มาจากสองกระทรวงหลัก คือ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ของนานาประเทศ เช่น
ปี 2030- อุรุกวัย, ปี 2035-ฟินแลนด์, ปี 2040 - ออสเตรีย และ ไอซ์แลนด์, ปี 2045 - สวีเดน และ เยอรมนี แต่ส่วนใหญ่ ตั้งเป้าไว้ปี 2050 – ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา สเปน เกาหลีใต้ ฟิจิ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ คอสตาริกา บราซิล สปป.สาว กัมพูชา และเมียนมา หรือที่ยาวกว่านั้น ตั้งเป้าไว้ปี 2060 – ได้แก่ จีน และ อินโดนีเซีย
จะเห็นว่า ประเทศไทย ตั้งไว้นานกว่านานาชาติ 10 ปีขึ้นไป กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน สปป.สาว กัมพูชา และเมียนมา ก็ตั้งเป้าหมาย Net Zero เร็วกว่า คือปี 2050 ซึ่งเหมือนกับนานาประเทศส่วนใหญ่ ส่วนจีน และอินโดนีเซีย ยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี คือปี 2060 โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านอาเซียน ที่มีประชากร มากกว่าและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีโอกาสสร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าไทยด้วยซ้ำ
สำหรับใจความสำคัญ ปาฐกถาของนายกฯ นอกจากแสดงความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกระดับโดยเร็ว ไทยยังให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเป็นโอกาสที่ไทยจะพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า เน้นการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจ และจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด
ทั้งนี้ไทยต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ใช้ประโยชน์จากกองทุนระหว่างประเทศ และประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ และโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงภาคเอกชนไทยว่าจำเป็นต้องปรับตัว แม้การปรับตัวจะมีค่าใช้จ่าย แต่การไม่ปรับตัวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าในระยะยาวซึ่งภาคเอกชนไทยหลายบริษัทเริ่มปรับตัวแล้ว โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำซึ่งกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2573 (ค.ศ.2030) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ โดยที่ภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตอนนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วย ได้บรรจุประเด็น climate change ในนโยบายระดับประเทศ ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีหมุดหมายที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็น 2 หมุดหมายที่ตอบสนองต่อประเด็น climate change โดยตรง ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ
เครดิต คลิป TNN Online
หมายเหตุ :
1.ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ และมีสองแนวทางด้วยกัน แนวทางแรกคือการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา โดยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ อีกแนวทางหนึ่งคือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า
2. ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ เป้าไทย..ห่าง ไกลกว่าเพื่อนบ้าน! อ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค Thon
Thamrongnawasawat (เมื่อ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา) หรืออ่านเพิ่มเติมที่ https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000092157