xs
xsm
sm
md
lg

‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ เป้าไทย..ห่าง ไกลกว่าเพื่อนบ้าน! อาจารย์ธรณ์ ข้องใจ! “ทำไมนานขนาดนั้น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อสังเกต เป้าหมายประเทศไทย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2065-2070 หรืออีก 49 ปีข้างหน้า ว่า “ทำไมตั้งเป้านานขนาดนั้น”

คลิปไลฟ์สด บนเพจเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawatt (เมื่อ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา) ช่วงหนึ่ง อาจารย์ธรณ์ โชว์แผนภาพนานาชาติ วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Net Zero ดังนี้ ปี 2030- อุรุกวัย, ปี 2035-ฟินแลนด์, ปี 2040 - ออสเตรีย และ ไอซ์แลนด์, ปี 2045 - สวีเดน และ เยอรมนี

แต่ส่วนใหญ่ ตั้งเป้าปี 2050 - สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา สหภาพยุโรป สเปน เกาหลีใต้ ฟิจิ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ คอสตาริกา บราซิล สปป.สาว กัมพูชา และเมียนมา หรือที่ยาวกว่านั้น ปี 2060 – ได้แก่ จีน และ อินโดนีเซีย

“คงจะเห็นว่า แม้กระทั่ง ประเทศเพื่อนบ้าน สปป.สาว กัมพูชา และเมียนมา ก็ยังตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 เหมือนกับนานาประเทศส่วนมาก ขณะที่จีน ขอยืดเวลาออกไป 10 ปี เหมือนกับอินโดนีเซีย เขามีประชากร โรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าไทยด้วยซ้ำไป ”

ตัวเลขดังกล่าว มาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ในการเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งกำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2065-2070 (พ.ศ.2608-2613) ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน

ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ค.ศ. 2022 โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2021 เพื่อนำความเห็นมาประกอบการจัดทำแผน 5 แผนหลัก และรวมเป็นแผนพลังงานชาติ หลังจากนั้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพลังงานชาติ ก่อนนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบต่อไป

แต่หากดูไทม์ไลน์ มติที่ประชุม กพช. (เมื่อ4 สิงหาคม 2021) เกิดขึ้นก่อนผลศึกษาล่าสุด ในรายงาน IPCC AR6 Climate Change 2021: The Physical Science Basis (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2021) ซึ่งเป็นข้อมูล “Red code” หรือสัญญาณเตือนสุดท้ายของโลก ที่มีรายละเอียดข้อมูลวิจัย ข้อแนะนำให้ทุกประเทศบนโลกควรวางมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกให้เข้มข้นอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้า Net Zero ภายในปี 2050

รายงาน IPCC Climate Change 2021: The Physical Science Basis ฉบับนี้ พอดีกับช่วงเวลาก่อนที่จะมีการประชุม Conference of Parties ครั้งที่ 26 (COP26) หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นความหวังสุดท้ายในการร่วมมือระหว่างประเทศก่อนที่จะสายมากไปกว่านี้ เหมือนตามที่ Mr.António Guterres เลขาธิการของสหประชาชาติ ที่ออกมากล่าวว่า

“If we combined forces now, we can avert climate catastrophe. But, as today’s report makes clear, there is no time for delay and no room for excuses. I count on government leaders and all stakeholders to ensure COP26 is a success”


“หากเราร่วมพลังกันตอนนี้ เราจะสามารถหยุดยั้งมหันตภัยทางภูมิอากาศได้ แต่รายงานฉบับนี้ได้บอกอย่างชัดเจนว่าหมดเวลารีรอหรือหาข้อแก้ตัวแล้ว ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าบรรดาผู้นำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนจะทำให้การประชุม COP26 ครั้งนี้สำเร็จอย่างแน่นอน”

ดังนั้น เป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย ที่ตั้งไว้ปี 2065-2070 จึงมีแรงกดดันสำคัญจากรายงาน IPCC Climate Change 2021: The Physical Science Basis และข้อเปรียบเทียบกับนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบเคียงกับเพื่อนบ้านที่ชายแดนติดกัน

อ่านข้อมูลเพื่มเติม
-รายงาน Climate Change 2021: The Physical Science Basis
https://www.ipcc.ch/report/sixth-assessment-report-working-group-i/


แม้กระทั่ง แรงกดดันของบรรดาองค์กรเอกชนที่เร่งขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด รวมถึงเอ็นจีโอ ระดับโลก "กรีนพีซ" อย่างในบทความตอนหนึ่งของ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ที่บอกว่า

หนึ่งไฮไลต์จากมติที่ประชุม กพช. ดังกล่าวข้างต้น คือ การเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2065-2070 (พ.ศ.2608-2613)

แต่จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว สิ่งที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ ณ เวลานี้มีเพียงแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ.2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030) ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 20-25%

ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ร่างทรงของ คสช. ที่สัญญาลมๆ แล้งๆ ว่าจะนำพาสังคมไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนนั้น มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 20% (ตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก) และใช้พลังงานหมุนเวียน 40%

นโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์แผนงานข้างต้นนี้ มีลักษณะเบี้ยหัวแตก ย้อนแย้งและอิหลักอิเหลื่ออย่างยิ่ง!

อ่านข้อมูลเพื่มเติม
-นโยบาย Net Zero Emission ของไทยจะเป็นเพียงหน้าไหว้หลังหลอกหรือไม่?
https://www.greenpeace.org/thailand/story/20621/climate-renewable-energy-thailand-net-zero-emission-plan/


กำลังโหลดความคิดเห็น