xs
xsm
sm
md
lg

ส่องการจัดการมลพิษทางอากาศ จากการเผาในพื้นที่เกษตร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิถีการเพาะปลูกพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จึงส่งผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหมอกควัน และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่มีเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะในช่วงการเตรียมพื้นที่เพื่อเพาะปลูกรอบใหม่หลังเก็บเกี่ยว จะเห็นการเผาในพื้นที่เกษตรเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและส่งผลกระทบในวงกว้าง

หลายภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP), the Asia Pacific Clean Air Partnership, Live and Learn, Global Alliance on Health and Pollution, and Vietnam Clean Air Partnership จึงได้หยิบยกปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรมาหารือกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างจากประเทศไทยและประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเผาในที่โล่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปัญหาเกือบทั้งปี
การเผาในพื้นที่โล่งเพื่อเตรียมที่ดินสำหรับการปลูกพืชในรอบถัดไปหรือเพื่อกำจัดเศษเหลือจากการเกษตรในพื้นที่หลังเก็บเกี่ยว จากการสำรวจข้อมูลดาวเทียมพบว่ามีการเผาในพื้นที่โล่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ในกลุ่มประเทศ CLMVT ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย และพบในกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีปัญหาไฟไหม้ป่าและพื้นที่เกษตรด้วย ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พบการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมักเกิดกระจายในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าพรุ
รศ. ดร. สาวิตรี การีเวทย์ ผู้เชี่ยวชาญจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “แม้จะมีสถานกการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ทำให้การเดินทางและกิจรรมหลายอย่างลดลง แต่การเผาในที่โล่งของเกษตรกรกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้ลดลงเลย”


UN ส่งเสริม Smart famer เกษตรยั่งยืนเพื่อลดปัญหาการเผา

นางกิต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนอกจากเป็นแหล่งปัญหา PM2.5 แล้วยังเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดแนวทางจัดการปัญหาการเผาชีวมวลอย่างบูรณาการ โดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นผลกระทบมลพิษข้ามพรมแดนประเทศ ซึ่งทาง UN ให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินการทั่วโลก ได้แก่ การหาแนวทางจัดการปัญหาบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ การเสริมสร้างขีดความสามารถในระดับประเทศ การสนับสนุนแนวทางการพัฒนาสู่ Smart farmer ในพื้นที่ทั่วโลก การร่วมกับภาคเอกชนในจัดการปัญหาการขาดแคลนตลาด และการสร้างมาตรฐานหรือบรรทัดฐานในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน “

การจัดการและลดการเผาในพื้นที่เกษตรในภูมิภาค
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ที่ปรึกษา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า “ประเทศไทยมีแนวทางการจัดการปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลากหลายวิธี เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศ การย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยจุลินทรีย์ การเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การพัฒนาเครื่องจักรสำหรับจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การสนับสนุนการปลูกพืชเหลื่อมฤดู และยังแนวทางในการจัดการไฟป่าด้วยการใช้หลักวิชาการในการควบคุมปริมาณชีวมวลในพื้นที่ป่า การใช้เทคโนโลยีในการสำรวจจุดที่เกิดไฟป่า กลุ่มลาดตระเวน การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การจัดทำแนวป้องกันไฟ การอนุญาตให้ชาวบ้านใช้ป่าเป็นพื้นที่ทำกินแต่ไม่อนุญาตให้ตัดไม้ เป็นต้น”

ด้าน Ms. Thuy Le Thanh หัวหน้าฝ่ายบริหารโครงการและสื่อสาร สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ประเทศเวียดนามให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น จากการขับเคลื่อนของชุมชนท้องถิ่นและการเกิดปัญหาหมอกควัน และในปี 2560 ได้มีการออกประกาศให้แก้ปัญหาการเผา โดยมีการวิจัยพบว่าในปี 2560 มีการเผาฟางข้าวประมาณร้อยละ 40 จึงก่อให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ต่อมาในปี 2563 ได้มีการออกประกาศห้ามเผาฟางข้าวและขยะ จากใช้เทคโนโลยีในการสำรวจพบว่ามีการเผาลดลงเหลือประมาณร้อยละ 20 มาตรการสำคัญที่ทางภาครัฐได้ดำเนินการคือการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพ การพัฒนาโมเดลเพื่อแสดงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเผา การขยายผลจากกรณีตัวอย่าง และใช้มาตรการทางการเงินมาช่วยสนับสนุนการดำเนินการของเกษตรกรอีกด้วย

ปัญหาการเผาในพื้นที่กาลิมันตันกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เกิดจากไฟไหม้ป่าพรุและการเผาในพื้นที่เกษตร
ด้าน Ms. Merty Ilona หัวหน้ากองควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมกาลิมันตันกลาง (Division of Pollution and Environmental Damage Control from the Environment Agency) ส่วนกรณีประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า “การเผาในที่พื้นที่โล่งที่สามารถพบได้ในพื้นที่เกาะกาลิมันตันส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่ป่าพรุ ในช่วงปี 2558-2562 พบการเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าพรุ 969,517 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 60.19 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนกลางของกาลิมันตันคิดเป็นร้อยละ 43.80 และเกิดไฟไหม้นอกพื้นที่ป่า 641,265 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 39.81 ส่วนใหญ่เกิดขั้นในพื้นที่ตอนใต้ของกาลิมันตัน โดยภาครัฐได้มีการจัดตั้งหน่วยควบคุมไฟป่า เก็บรวมรวมข้อมูลจากจุด Hotspot ในพื้นที่เกาะ โดยการรับมือกับปัญหาในแต่ละปี ได้มีการคาดการณ์และเตรียมป้องกันไฟป่าพรุและการเผาในพื้นที่เกษตร สร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมสำหรับเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟไหม้”
ความพยายามของภาครัฐและเอกชนเพื่อลดการเผาในประเทศไทย

นายสามารถ น้อยวัน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า “ประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายหยุดการเผาในปี 2567 โดยมีแผนการลดอ้อยไฟไหม้ในแต่ละปีให้น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2565 และน้อยกว่าร้อยละ 5 ในปี 2566 จนกระทั่งหยุดการเผาในปี 2567 นอกจากนั้น ยังมีแนวทางในการลดการเผาอื่น ๆ ได้แก่ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสนับสนุนการเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวอ้อยสดปราศจากการเผาของเกษตรกร และจัดทำข้อบังคับทางกฎหมายรองรับ รวมถึงมีแนวทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลได้ง่ายมากขึ้น โดยสารถยืมเครื่องสางใบอ้อยในแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 300 เครื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวอ้อยสด ซึ่งส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาปริมาณอ้อยไฟไหม้มีจำนวนลดลงอย่างมากจากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา”


มาตรการจูงใจให้ลดการเผา เกษตรกรที่ขายอ้อยไฟไหม้ให้โรงงานจะเสียเงิน 30 บาท/ตัน ส่วนเกษตรกรที่ขายอ้อยสดให้โรงงานจะได้เงิน 30 บาท/ตัน


นายวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า “การดำเนินงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องรายใหญ่ สาเหตุที่เกษตรกรต้องเผา เพราะขาดแคลนแรงงาน คนงานที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดได้ช้ากว่าอ้อยไฟไหม้ ถึง 3 เท่า ส่วนใหญ่จึงต้องการที่จะรับจ้างเกี่ยวอ้อยไฟไหม้มากกว่า และยังมีข้อกำจัดในเรื่องคิวการส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลอีกด้วย ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2561 กลุ่มมิตรผลได้สนับสนุนให้เกษตรกรลดการเผาอ้อยและส่งเสริมให้เก็บเกี่ยวอ้อยสดมากขึ้น โดยการใช้มาตรการจูงใจ เช่น เกษตรกรที่ขายอ้อยไฟไหม้ให้โรงงานจะเสียเงิน 30 บาท/ตัน และเกษตรกรที่ขายอ้อยสดให้โรงงานจะได้เงิน 30 บาท/ตัน ร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาและดำเนินคดีกับผู้ที่เผาอ้อย ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวทดแทนการใช้แรงงาน


แนวทางการจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรเพื่อลดมลพิษทางอากาศ

1)การให้ข้อมูลและทางเลือกแก่เกษตรกร การที่เกษตรกรซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญได้รับข้อมูลที่เพียงพอ มีทางเลือก และยอมรับในเงื่อนไขที่หน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรให้ชัดเจน รวมถึงทางเลือกในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและช่องทางการตลาด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเผาในพื้นที่เกษตร

2)การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อก่อให้เกิดการใช้เครื่องจักรอย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการเป็นเจ้าของเครื่องจักรเอง ซึ่งจะต้องลงทุนสูงและมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามมา

3)การสนับสนุนธุรกิจ Start-up พัฒนารูปแบบการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากการผลิตที่ปลอดการเผาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4)ความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-เกษตรกร-วิชาการ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตอ้อยจนถึงการแปรรูป รวมถึงการพัฒนาการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร

5)การสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค เพราะแม้ว่าประเทศใดประเทศหนึ่งดำเนินการสำเร็จ ก็อาจมีโอกาสได้รับผลกระทบที่เกิดจากการเผาในประเทศข้างเคียงได้ เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาเป็นปัญหามลพิษไร้พรมแดนนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น