กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก เผยผลตรวจคุณภาพน้ำทะเลเพชรบุรีเปลี่ยนสี หลังได้รับเเจ้งเรื่องพบปลาทะเลขนาดเล็กเกยตื้นตายบนหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี เมื่อวันก่อน (3 ต.ค.2564)
โดยทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัย ทช. เข้าไปสำรวจ และนำน้ำทะเลมาทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ซึ่งจากผลตรวจวัดปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลพื้นฐาน 5 สถานี ได้แก่ ปากแม่น้ำบางตะบูน หาดทรายเม็ดแรก หาดเจ้าสำราญ หาดบางเก่า และหาดชะอำ พบปลาทะเลตายเกยบริเวณหาดทรายเม็ดแรก หาดเจ้าสำราญ และหาดบางเก่า พบว่าน้ำทะเลมีสีน้ำตาลแดงเป็นฟอง ซึ่งช่วงเวลาที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล เป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พบค่าอุณหภูมิน้ำทะเล 32.5-33.5 องศาเซลเซียส มีค่าความเป็นกรดด่าง 7.97-8.24 ค่าความเค็ม 29.4-30.3 ppt ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ 5.7-7.6 mg/l พบการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชชนิด Chaetoceros spp. (ความหนาแน่น 515,021 เซลล์/ลิตร) และ Ceratium furca (ความหนาแน่น 132,413 เซลล์/ลิตร) เฉพาะสถานีหาดทรายเม็ดแรก
เบื้องต้นปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลฯ ที่กำหนด (กรมควบคุมมลพิษ, 2560) โดยสาเหตุการพบปลาทะเลลอยหัวและตายเกยหาด เกิดจากปรากฏการณ์น้ำเบียด เนื่องจากมีน้ำจืดไหลลงทะเลปริมาณมาก ซึ่งพบบ่อยช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน-ตุลาคม) เป็นลักษณะทางธรรมชาติที่จะเกิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลมีปริมาณน้อยลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) จะดำเนินการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง