xs
xsm
sm
md
lg

“อธิบดีศักดิ์ดา” ย้ำ ! เจาะน้ำบาดาลต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์ก่อนนำไปใช้ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 22 ก.ย.นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่ประเทศไทยมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่แตกต่างกันออกไป น้ำบาดาลที่ขุดเจาะได้ในแต่ละพื้นที่จึงมีคุณภาพที่แตกต่างกันไปเช่นกัน ดังนั้น ก่อนจะนำน้ำบาดาลมาใช้อุปโภคบริโภค หรือเพื่อกิจกรรมใดก็ตาม จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ เพื่อให้ทราบถึง 4 คุณลักษณะสำคัญ คือ คุณลักษณะทางกายภาพ คุณลักษณะทางเคมี คุณลักษณะที่เป็นพิษ และคุณลักษณะทางบัคเตรี ก่อนนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ หรือนำไปปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ต่อไป

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า จากการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีภารกิจหลักในการสำรวจ พัฒนา ประเมินศักยภาพ อนุรักษ์ ฟื้นฟู เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างสมดุลและยั่งยืน และมีการดำเนินงานสำคัญที่สนับสนุนภารกิจหลัก คือ การวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาล โดยกองวิเคราะห์น้ำบาดาล มีหน้าที่ในการตรวจสอบ รับรองคุณภาพ และปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล กำหนดมาตรฐาน พัฒนารูปแบบและวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล กำหนดมาตรฐานสถาบันวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ของภาคเอกชน ติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์การปนเปื้อนของมวลสารสู่แหล่งน้ำบาดาล ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนงานวิชาการด้านน้ำบาดาล รวมทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงการศึกษาคุณภาพ น้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารพิษสู่แหล่งน้ำบาดาล ดังนั้น การนำน้ำบาดาลจากใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร หรือแม้แต่ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม จำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลจาก ทุกบ่อที่เจาะขึ้นมาได้ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าน้ำบาดาลจากบ่อนั้นๆ เหมาะสมกับกิจกรรมใดโดยเฉพาะหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำบาดาลจากบ่อดังกล่าว ก็สามารถหาวิธีจัดการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลให้สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมที่ต้องการได้เช่นกัน

“ในแต่ละปีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ซึ่งทุกบ่อน้ำบาดาลที่มีการเจาะและพัฒนา จะต้องมีการส่งตัวอย่างน้ำบาดาลจากทุกบ่อและทุกโครงการเพื่อให้กองวิเคราะห์น้ำบาดาลทำหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์ เพื่อยืนยันคุณภาพของน้ำบาดาลก่อนนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยในปีงบประมาณ 2563 มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาลรวมทั้งสิ้น 9,596 ตัวอย่าง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ร้อยละ 55 เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ร้อยละ 45 ส่วนในปีงบประมาณ 2564 มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาลรวมทั้งสิ้น 8,879 ตัวอย่าง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ร้อยละ 48.7 เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาล ที่จะใช้บริโภคได้ร้อยละ 51.3 ส่วนใหญ่มีปัญหาสนิมเหล็ก ฟลูออไรด์ ไนเทรต กร่อยเค็ม และความกระด้าง พร้อมเสนอ แนะวิธีการปรับปรุงแก้ไขคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้”นายศักดิ์ดา กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจติดตามคุณภาพน้ำพุโซดาที่บ้านทุ่งคูณ ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ที่แจกจ่ายให้กับประชาชนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง และตรวจติดตามคุณภาพน้ำพร้อมวิเคราะห์สารอินทรีย์ ระเหยง่าย โดยรอบบริษัท หมิงตี้ เคมีคลอล จำกัด ตำบลบางพลีใหญ่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่


















กำลังโหลดความคิดเห็น