SOS เดินหน้าภารกิจกอบกู้ “อาหารส่วนเกิน” หรือ “อาหารเหลือทิ้ง” อย่างต่อเนื่อง มุ่งส่งต่อ “คุณค่าทางโภชนาการ” ช่วยสังคมลดปัญหาความขาดแคลน พร้อมเปลี่ยน “เศษอาหาร” เป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์คุณภาพดี เตรียมจัดกิจกรรม “Save Food, Good Future” ในวันอาหารโลก 16 ตุลานี้
ทุกวันนี้โลกของเราผลิตอาหารที่มากพอจะเลี้ยงคนได้ถึงหมื่นล้านคน ในขณะที่ประชากรบนโลกมีเพียง 7.8 พันล้านคน แต่ยังคงมีคนอีกถึง 1 พันล้านคนที่ขาดแคลนอาหาร นั่นทำให้เราตะหนักว่า โลกของเรามีปัญหาเรื่องการกระจายอาหารสาเหตุหลักมาจากความยากจน ความไม่เท่าเทียมในสังคม ผู้คนจำนวนมากไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออาหารมาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
“มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์" (Scholars of Sustenance Foundation ) จึงมุ่งเป้าไปที่ภารกิจ Food Rescue หรือ “โครงการรักษ์อาหาร” การกอบกู้อาหารส่วนเกิน ด้วยการเป็นตัวกลางสร้างระบบการจัดเก็บอาหารจากภาคธุรกิจที่จำหน่ายไม่หมด แต่ยังมีคุณภาพและปลอดภัยเพียงพอที่จะรับประทานได้ นำไป "ส่งต่อ" ให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในสังคม และมุ่งสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารในประเทศไทย เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อดูแลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการลดขยะอาหาร และด้านสังคมคือ ช่วยให้ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับอาหารเพียงพอ
ภารกิจอันยิ่งใหญ่เริ่มจากความคิดเล็กๆ ของผู้ชายคนหนึ่ง “โบ เอช โฮล์มกรีน” (Mr. Bo H. Holmgreen) ผู้ก่อตั้ง Scholars of Sustenance Foundation เมื่อได้สังเกตเห็นพนักงานในโรงแรม 5 ดาวคนหนึ่งนำอาหารที่เหลือจากถาดอาหารไปทิ้งลงถังขยะ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดรับประทานอาหารเหล่านั้น ในขณะที่ เด็กหญิงยากไร้คนหนึ่งกำลังขอทานเพื่อนำเงินไปซื้ออาหาร ด้วยความรู้สึกเสียดายอาหารที่ถูกทิ้งลงถัง ขยะอย่างมาก จึงถามพนักงานโรงแรมว่า “ทำไมทิ้งอาหารที่ยังสามารถกินได้ลงถังขยะ” และคำตอบง่ายๆ จากพนักงานคือ “มันเหลือและเลยเวลาอาหารแล้ว เราก็แค่ทำความสะอาดโต๊ะอาหารเท่านั้น” เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มของการตั้งปณิธานที่จะสร้างองค์กรแห่งหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหานี้ให้โลกอย่างจริงจริง
ในปีค.ศ.2012 “มูลนิธิโบ โฮล์มกรีน” จัดตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิสโกลารส์ออฟซัสทีแนนซ์” ในปี2016 และเริ่มดำเนินการครั้งแรกในกรุงเทพฯ ในปี 2017 ต่อจากนั้นได้จัดตั้งสาขาที่ 2 และ 3 ในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และจังหวัดภูเก็ต ในประเทศไทย ตามลำดับ เพื่อนำ “อาหารส่วนเกิน” ที่ถูกทิ้งจำนวนมากไปมอบให้กับผู้ยากไร้ในชุมชนที่ขาดแคลนให้มีอาหารคุณภาพดีบริโภคได้อย่างปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ก่อนที่อาหารเหล่านี้จะถูกนำไปทิ้งทำลายและกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อพบว่า อาหารเหลือทิ้งจากการให้บริการลูกค้าในโรงแรมที่ถูกนำไปทิ้งจำนวนมากมายเป็นของที่มีคุณภาพดีมาก จึงเกิดโครงการ “Food Rescue“ เพื่อสร้างระบบการกระจายอาหารส่วนเกินที่รับบริจาคมาจากโรงแรม ภัตตาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำอาหารส่วนเกินเหล่านั้นส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการแต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ตามโรงเรียน ชุมชน และสถานสงเคราะห์ต่างๆ
SOS มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่า อาหารที่บริจาคต้องผ่านเกณฑ์และกระบวนการตรวจวัดอะไรบ้าง ตั้งแต่การเก็บรวบรวม ใส่ตู้แช่ จนถึงการนำออกมาชั่งน้ำหนักและแยกประเภท แล้วจึงนำอาหารขึ้นรถขนส่ง เพื่อดูแลคุณภาพและความปลอดภัยต่อการบริโภค โดยในสัญญามีการระบุชัดเจนว่าขอให้ทางผู้บริจาคดูแลอาหารที่บริจาคเหมือนอาหารสำหรับลูกค้า
ส่วนเศษอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารเสื่อมสภาพและวัตถุดิบส่วนเกินจากกระบวนการผลิตที่กินไม่ได้ ซึ่งมีปริมาณมากมายเช่นกัน ทำให้เกิดโครงการ “Compost Program“ เป็นการนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร แต่หากนำไปเป็นอาหารสัตว์ ผู้บริจาคจะเก็บขยะอาหารหรือเศษอาหาร ประเภทเปลือกผักผลไม้ ไว้ในห้องขยะแช่เย็น ซึ่งสะอาดและสามารถชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เพื่อคงความสดเอาไว้ให้สามารถนำไปให้สัตว์เลี้ยงได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย
เนื่องในวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็น “วันอาหารโลก” ดังนั้น ในปีนี้ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564 มูลนิธิ SOS จึงจัดกิจกรรม “Save Food, Good Future” โดยเชิญชวนผู้สนใจมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าของอาหาร และผลกระทบของที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านเวิร์คช้อปสนุกๆ และการเสวนาที่เข้าใจง่ายกับหลากหลายแบรนด์และกลุ่มเยาวชนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ในประเทศไทย