xs
xsm
sm
md
lg

‘ยูนิลีเวอร์ฯ’ ปรับกลยุทธ์สอดรับวิถี New Normal พร้อมดูแลสังคม - สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยูนิลีเวอร์’ มั่นใจคลายล็อกดาวน์ 1 ตุลาคมนี้ ปลุกกำลังซื้อฟื้นรอบใหม่ ตอบโจทย์ลดค่าครองชีพผู้บริโภค เดินหน้าลุยทั้งขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ออฟไลน์ ยันร้านค้าโชห่วย ตอกย้ำวิสัยทัศน์ในการสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน พร้อมออกนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จับมือพันธมิตรร่วมโครงการ “waste to WORTH: แยกไม่ยาก” พร้อมสานต่อการจัดการขยะจากที่อยู่อาศัย
นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลา 22.00-04.00 น.และให้เปิดร้านเสริมสวย ร้านนวด สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ และเล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ดาดว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะกลับมาฟื้นตัวรอบใหม่ได้ เพราะมั่นใจว่าธุรกิจจะเริ่มกลับมาดำเนินการได้ แต่จะต้องไม่ประมาทกับสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดซ้ำได้

ที่ผ่านมายูนิลีเวอร์ฯ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และช่องทางการสื่อสารให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องแพลตฟอร์มออนไลน์ ผ่าน Shopee Lazada โดยนำสินค้าในกลุ่มทำความสะอาด อาทิ ครีมอาบน้ำ แชมพู น้ำยาทำความสะอาด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในยามนี้ มาจำหน่ายในราคาพิเศษ ซึ่งมั่นใจว่าสินค้ากลุ่มดังกล่าวสามารถสร้างการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ผนวกกับวิถีชีวิตใหม่

นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน
ขณะเดียวกันยังมีการออกนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ บรีส สูตรใหม่ ที่มีส่วนผสมจากพลังเอนไซม์จากธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมีที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และในสินค้าหลายหมวดมีการเปลี่ยนขวดพลาสติกใหม่เป็นพลาสติกรีไซเคิล โดยได้ร่วมมือกับ เอสซีจี เคมิคอลส์

นายโรเบิร์ต กล่าวย้ำว่า แนวคิดหลักในการดำเนินธุรกิจของ ยูนิลีเวอร์ นั้นให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมและสร้างองค์กรที่มีเป้าหมาย โดยเฉพาะในด้านการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่ได้ดำเนินการมาอย่างจริงจัง โดยผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำมากมากมายเพื่อเก็บรวบรวมและจัดการขยะในแต่ละประเภท ทั้งนี้สถานการณ์ ขยะพลาสติก ในประเทศไทย มีข้อมูลจากเสวนา PPP Plastics ในหัวข้อ “ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” ระบุว่า ในช่วงก่อนโควิด-19 ไทยมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 2 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 90 กรัม/คน/วัน (ระหว่างมกราคม-ธันวาคม 2562) มีขยะพลาสติกถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์คิดเป็น 0.5 ล้านตัน/ปี และถูกนำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบหรือเตาเผาถึง 1.5 ล้านตัน/ปี จึงจำเป็นต้องนำขยะพลาสติกนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ช่วงโควิดที่ผ่านมา พบว่าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยประมาณ 139 กรัม/คน/วัน (เม.ย.2564)


ล่าสุด ยูนิลีเวอร์ ได้ร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) PPP Plastics และพันธมิตรในแวดวงพลาสติก ภายใต้การนำของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) สานต่อการจัดการขยะจากที่อยู่อาศัย ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้เกิดประโยชน์ กับโครงการ “waste to WORTH: แยกไม่ยาก” โดยเชิญชวนลูกบ้านและทุกคน ล้าง-ตาก-ทิ้ง เพื่อส่งต่อขยะพลาสติกแบบย่อยสลายไม่ได้ โดยได้ตั้งจุดรับขยะที่โครงการ Habito Mall และขยะพลาสติกที่ลูกบ้านคัดแยกในอีกกว่า 50 โครงการของแสนสิริ จะถูกนำส่งกับ Recycle Day หรือนิติบุคคลในโครงการแสนสิริ ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564 เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Upcycle ต่อไป เพื่อเป็นการตอกย้ำเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้ได้ 100% ภายในปี 2568

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management: PPP Plastics) กล่าวว่า โครงการ “waste to WORTH: แยกไม่ยาก” เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์ แสนสิริ และ PPP Plastics ที่จะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง การสร้างจุดทิ้งและเชื่อมต่อ Network ตั้งแต่ผู้แยกและผู้นำไปรีไซเคิล เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ตามเป้าหมายของ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573 ของภาครัฐ การดำเนินงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างต้นแบบระบบการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Model) ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ BCG โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลควบคู่กันไปด้วย ในขณะที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น