xs
xsm
sm
md
lg

พลิกธุรกิจก้าวทันโลกยุคใหม่!! 4 สตาร์ทอัพ ใช้เทคโนโลยี ARI แก้โจทย์ใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนะนำ 4 สตาร์ทอัพ ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาใหญ่ และตอบโจทย์โลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ ด้วย 3 เทคโนโลยี “Artificial Intelligence, Robotics and Immersive Technology” หรือ ARI พร้อมเปิดโอกาสการยกระดับธุรกิจในอนาคต

“โลกอุตสาหกรรม” ผ่านการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงมาจนถึงยุคปัจจุบันที่คลื่นเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ในสังคม ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ดำเนินธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้าถึงเครื่องมือและแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อก้าวให้ทันต่อโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือที่เรียกว่า “กลุ่ม ARI Tech” (Artificial Intelligence, Robotics and Immersive Technology) ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA แนะนำ 4 สตาร์ทอัพด้าน ARItech น้องใหม่ที่จะมาช่วยยกระดับและเปิดประสบการณ์การทำงานโลกอุตสาหกรรมในบ้านเรา โดยสตาร์ทอัพทั้ง 4 รายได้เตรียมพร้อมลงสนามจริงเพื่อทดลองใช้เทคโนโลยีร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และถือเป็นการเปิดประตูให้ผู้สนใจหรือพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวได้มีโอกาสร่วมยกระดับภาคส่วนทางอุตสาหกรรมในอนาคตได้ต่อไปอีกด้วย

๐ “Verily Vision” ระบบ AI สุดแม่นยำ
ตรวจซ่อมบำรุงเครื่องจักรในโรงงาน

เริ่มที่ผู้ให้บริการระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการดูแลรักษาระบบในภาคอุตสาหกรรม โดย ปิยะวัฒน์ แสงประเสริฐกฤต ผู้บริหารฝ่ายการตลาด และผู้ก่อตั้ง บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด กล่าวว่าเทคโนโลยีที่บริษัทนำมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการสำหรับภาคอุตสาหกรรมนี้ เป็นระบบ AI เพื่อใช้สำหรับการตรวจซ่อมบำรุง ดูแลรักษา ตรวจสอบสถานะของเครื่องจักรภายในโรงงาน เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานคน และลดความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะการตรวจสอบระบบต่างๆ ซึ่งปกติจะต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ 100% และจะต้องทำการตรวจสอบทุก 4 ชั่วโมง พร้อมทั้งจดบันทึกรายละเอียดด้วยตนเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนของข้อมูล ดังนั้น บริษัทจึงต้องการนำระบบเข้ามาแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการผลิต กลุ่มโลจิสติกส์ คลังสินค้า ท่าเรือ ที่จำเป็นจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องและแม่นยำอยู่ตลอดเวลา

นายปิยะวัฒน์ กล่าวต่อว่า ระบบจะเน้นการใช้เทคโนโลยี AI เป็นหลักในการตรวจสอบและบันทึกข้อมูล ในรูปแบบอัตโนมัติผ่านระบบกล้อง CCTV และระบบแว่นตา Smart Glasses ซึ่งเป็นแว่นตาอัจฉริยะที่มีการจับภาพและตรวจสอบสถานะของเครื่องจักรด้วย AI เพียงแค่สวมใส่แว่นตาและมองไปยังเครื่องจักรที่ต้องการก็จะสามารถเก็บข้อมูลความผิดพลาดด้านต่างๆ ได้ เช่น การวัดค่าความดัน ไฟฟ้า อุณหภูมิของเครื่องจักร ตรวจสอบความเสียหายของเครื่องจักร หลังจากจบขั้นตอนการตรวจสอบและเก็บข้อมูล จะมีการบันทึกข้อมูลไว้ในระบบฐานข้อมูล เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถดึงข้อมูลกลับมาใช้ในการซ่อมบำรุงได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังจัดทำบริการระบบการตรวจจับทะเบียนรถขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นระบบการตรวจจับข้อมูลผ่านกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติโดยการอ่านข้อมูลภาพถ่ายด้วยระบบ AI หลังจากนั้นจะมีการแปลงภาพเป็นข้อมูล และเก็บบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ ระยะเวลาในการขนส่งสินค้า จำนวนรอบวิ่งของรถบรรทุก โดยระบบดังกล่าวจะเข้ามาแก้ปัญหาการใช้แรงงานคนในการจดรายละเอียด ข้อมูลในระบบคลังสินค้าและท่าเรือ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทั้ง 2 รูปแบบที่บริษัทให้บริการอยู่สามารถช่วยสร้างศักยภาพในกระบวนการทำงาน และการตรวจสอบให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดอัตราการใช้แรงงานคนและสามารถจัดสรรแรงงานให้ไปทำงานอื่นที่จำเป็นได้มากกว่าด้วย และจากการเข้าร่วมโครงการ NIA Deep Tech incubation Program @ EEC ของ NIA ทำให้ขณะนี้เทคโนโลยีของบริษัทมีการนำไปใช้ในกระบวนการดูแลเครื่องจักรบริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

๐ “Movemax” ระบบ AI ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

นายวิชาญ ชัยจำรัส กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แฮนด์ดี้วิง จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารงานขนส่งและกระจายสินค้า “Movemax” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ด้วย AI กล่าวว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการเติบโตสวนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในทุกปี จึงทำให้มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมากและเกิดการแข่งขันสูง ประกอบกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนด้านการขนส่งเพื่อสามารถทำราคาค่าบริการได้ดีกว่าและแข่งขันได้

แต่จากการศึกษาและคลุกคลีอยู่กับอุตสาหกรรมในด้านนี้มากกว่า 3 ปี ทำให้เข้าใจและมองเห็นปัญหาว่า การลดต้นทุนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบการทำงานแบบเก่าที่ยึดติดกับเอกสารและการบริหารงานที่ต้องพึ่งพิงพนักงานในทุกขั้นตอน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับต้นทุนจ้างพนักงานที่ค่อนข้างสูง รวมถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงเกินความจำเป็นจากการวางแผนงานขนส่งที่ซับซ้อนด้วยคน ดังนั้น MoveMax จึงมุ่งมั่นพัฒนา AI เพื่อมาคิดและทำงานแทนคน โดยเฉพาะงานวางแผนขนส่งที่มีความซับซ้อนสูง และยังมีซอฟต์แวร์สนับสนุนด้านโลจิสติกส์อื่นอีกมากที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ครบวงจรและสามารถช่วยให้การบริหารงานของผู้ประกอบการมีคล่องตัว รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“MoveMax ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในรูปแบบคลาวด์ดาต้าที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและกระจายสินค้า ซึ่งครอบคลุมได้หลากหลาย เช่น ผู้ประกอบการให้บริการ-รับจ้างขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องขนถ่ายวัตถุดิบสำหรับไลน์การผลิต ตลอดจนร้านค้า หรือบริษัทที่ต้องมีการกระจายสินค้าไปยังสาขาย่อยหรือผู้บริโภคปลายทาง เป็นต้น เราภูมิใจที่สามารถเข้าไปช่วยลดต้นทุนขนส่งให้กับลูกค้าได้มากกว่า 10-25% และเรายังทำงานกันอย่างหนักในทุกวัน เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่า MoveMax จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการได้อีกหลายแสนรายในประเทศไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่ดุเดือดเช่นนี้” นายวิชาญ กล่าว

๐ “ไอฟราซอฟต์”แพลตฟอร์ม IoT
มอนิเตอร์เครื่องจักร รายงานผลทุก 1 นาที

นายณัฐพล รักธง ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไอฟราซอฟต์ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม IoT สำหรับเก็บข้อมูลจากเครื่องจักรและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร เล่าว่า จากปัญหาการดูแลเครื่องจักรภายในโรงงานของวิศวกรที่จะต้องมีการมอนิเตอร์และจดบันทึกการทำงานของเครื่องจักรด้วยตัวเองลงในโปรแกรม Excel หรือบางกรณีต้องสรุปเป็นรายงาน ซึ่งบางครั้งทำให้การจัดการเป็นไปค่อนข้างลำบาก พร้อมทั้งต้องคอยบริหารจัดการให้เครื่องจักรทำได้เต็มประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงคิดค้นแพลตฟอร์ม IoT สำหรับแก้ปัญหาและเก็บข้อมูลรอบการทำงาน และปัญหาที่ขัดข้องระหว่างการทำงานของเครื่องจักร โดยระบบจะบันทึกข้อมูลทุก 1 นาที ซึ่งการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ในกระบวนการทำของเครื่องจักรจะช่วยให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือวิศวกรสามารถนำข้อมูลไปแก้ไขข้อบกพร่อง จุดอ่อน และพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรให้ทำงานได้เต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น

“อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายของบริษัทจะเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัยในกลุ่มโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และลดข้อผิดพลาดในขั้นตอนให้ได้มากที่สุด และในอนาคตตั้งเป้าจะพัฒนาระบบ AI ที่สามารถดึงข้อมูลจากแพลตฟอร์ม IoT ไปใช้ในการวางแผนการผลิตให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วย” นายณัฐพล กล่าว

๐ “พลาย” หุ่นยนต์ขับฟอร์คลิฟ
ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นางสาววรีมน ปุรผาติ กรรมการบริษัท เจ็นเซิร์ฟ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์ขับรถฟอร์คลิฟยกพาเลทด้วยระบบเลเซอร์ กล่าวว่า “เจ็นเซิฟ” เป็นบริษัทออกแบบและผลิตหุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้มีความไฮเทคด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น ในราคาที่จับต้องได้ โดยบริษัทได้คิดค้นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขนส่งและรถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับที่นำทางด้วยระบบเลเซอร์ ซึ่งสามารทำงานได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย ตลอด 24 ชั่วโมง จึงช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานที่จะเข้ามาขับรถฟอร์คลิฟได้นั้นจะต้องมีใบอนุญาต และต้องมีความชำนาญค่อนข้างสูง ส่งผลให้ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมขาดแรงงานในด้านดังกล่าวพอสมควรหุ่นยนต์

“พลาย” มีจุดเด่นที่เหนือกว่าหุ่นยนต์ขนส่งแบบเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยแถบแม่เหล็ก เพราะมีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางในอนาคตได้โดยไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนแถบแม่เหล็ก และสามารถยกของขึ้นชั้นสูงได้ ทำให้เหมาะกับการทำงานทั้งในไลน์การผลิต และคลังสินค้าได้อย่างดี

สำหรับรูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์จะทำแผนที่และเรียนรู้เส้นทางวิ่ง และรับคำสั่งผ่านการเชื่อมต่อจากโปรแกรมบริหารคลังสินค้าเดิมของลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ซอฟท์แวร์บริหารจัดการคิวงานกลุ่มหุ่นยนต์ ให้แต่ละตัวไปรับงานที่ใกล้ที่สุดและวิ่งในเส้นทางสั้นที่สุดเพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง ช่วยให้ประหยัดเวลา รวมทั้งสามารถโปรแกรมงานล่วงหน้า บันทึกการทำงาน และรายงานผลหลังจบงาน เพื่อให้เจ้าหน้าตรวจรายละเอียด และส่งข้อมูลตำแหน่งของสต็อกสินค้าสู่ระบบได้แบบเรียลไทม์ มีความถูกต้อง ไม่เสียหาย ลดอุบัติเหตุ

นอกจากการยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้นำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในกระบวนการทำงานแล้ว เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของบริษัทยังช่วยลดต้นทุนการนำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูง และช่วยให้การออกแบบ ติดตั้ง และใช้งานหุ่นยนต์ในประเทศทำได้อย่างรวดเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น