ในภาพ เรือของคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กำลังลาก “กระชังยักษ์” หรือซูเปอร์กระชังออกสู่ท้องทะเลไทย โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ค Thon
Thamrongnawasawat (เมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา) โดยบอกว่า เปิดยุคใหม่ของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานและยั่งยืน
ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า อาจยังมีคำถามมากมาย อาจมีข้อสงสัย แต่ไม่เริ่มวันนี้แล้วจะเริ่มวันไหน ไม่ทำวันนี้แล้วจะรอวันต่อไปและต่อไป แล้ววันไหนถึงจะทำ ? นั่นคือเหตุผลที่คณะประมงทำงานหนักตลอด 2 ปีแห่งโควิด
เราเลือกกระชังจากจีนเป็นต้นแบบ แต่ยังทำข้อตกลงร่วมกับนอร์เวย์ เพื่อผสมผสานเทคนิคเลี้ยงสัตว์น้ำจากสองผู้นำโลก สำหรับพื้นที่ทำการทดลอง “ซูเปอร์กระชัง” คณะประมง มก.ได้ขออนุญาตจากกรมประมงแล้ว ใช้พื้นที่ห่างจากชายฝั่งทะเล อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร ตัวกระชังจะมี 2 วง คือ วงนอก ประมาณ 10 เมตร วงในประมาณ 5-6 เมตร
การทำระบบทุกขั้นตอนจะทำเต็มรูปแบบ นั่นคือ มีระบบให้อาหารแบบออโตฟีด สั่งการผ่านระบบออนไลน์ตามปฏิกิริยาความต้องการอาหารของปลา มีเครื่องวัดความสะอาดของน้ำและปริมาณออกซิเจนในน้ำ มีกล้องใต้น้ำเพื่อตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกระชังและบริเวณรอบๆ ทั้งหมดก็เพื่อเป็นบรรทัดฐานและตัวชี้วัดว่าระบบดังกล่าวนี้จะต้องมีการลดหรือเพิ่ม หรือแก้ปัญหาอะไรส่วนไหนที่อาจจะเกิดขึ้นมาบ้าง
IMTA หรือ Integrated Multi-Trophic Aquaculture Systemคือการเพาะเลี้ยงที่มีทั้งปลา ทั้งหอย ทั้งสัตว์น้ำอื่นๆ และสาหร่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยว ลดผลกระทบจากการให้อาหารให้น้อยสุด อีกทั้งยังบริหารความเสี่ยงด้วยผลผลิตหลากหลาย ผลิตสัตว์น้ำเป็นช่วงๆ ตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออก (ดูภาพประกอบ อ้างอิงจาก
https://www.researchgate.net/.../A-simplified-schematic)
IMTA จึงเป็นการทำประมงที่ทุกสิ่งเกื้อกูลกัน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนทำประมงเอง นับเป็นวิธีที่จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้การดำรงชีวิตของชาวประมงมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เรียกว่าเป็นการทำประมงที่ทุกสิ่งเกื้อกูลกัน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนทำประมงเอง
ดร.ธรณ์ บอกว่า นี่คือการเพาะเลี้ยงของโลกยุคใหม่สำหรับเกษตรกรไทย ใช้การวัดคุณภาพน้ำ real time ใช้ AI ช่วยให้อากาศและให้อาหาร ควบคุมได้จากระยะไกล ฯลฯ และเมื่อเราใช้ไฟฟ้าหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ ยิ่งช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับโลก
“ประเทศไทยมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลมากมายครับ หากเราปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ใช้เทคโนโลยีและความรู้มาเป็นตัวช่วย เรายังคาดหวังกับเรื่องดีๆ ในทะเลไทยได้ ทุกความคาดหวังเริ่มต้นด้วยการลงมือทำครับ”
ช่วงที่ผ่านมา คณะประมงประมวลถึงปัญหาและพยายามหาทางออกกับเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยยังพบว่าในระบบของการทำประมงนั้น ประเทศไทยมีเรื่องของการจับและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหลัก ซึ่งเรื่องการจับสัตว์น้ำนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีไอยูยู หรือประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมเข้าไปแก้ปัญหา และที่ผ่านมาก็จะพบว่าหลังการแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ปริมาณสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ ก็เพิ่มมากขึ้น นั่นคือ 27 กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือลากอวน 1 ชั่วโมง ได้ปลาประมาณ 27 กิโลกรัม
แต่ความจริงที่เราจะต้องยอมรับก็คือ ทะเลมีขนาดเท่านี้ การจะจับปลาให้มากขึ้น ก็มากขึ้นไม่ได้มากนัก ดังนั้น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงเป็นวิธีการเพิ่มผลผลิตทางการทำประมงอีกทางหนึ่ง แต่อะไรที่ทำมากไปหรือขาดการเอาใจใส่มักจะมีปัญหาตามมาเสมอ อย่างเช่นการทำนากุ้งเชิงเดี่ยว ที่ทำให้ป่าชายเลนหายไปจำนวนมาก อาหารกุ้งหลายพื้นที่ทำให้น้ำเน่าเสีย และการเพาะเลี้ยงชายฝั่งเวลานี้มีพื้นที่จำกัด ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล เช่น การเลี้ยงหอย เป็นการเลี้ยงแบบเชิงเดี่ยว การเลี้ยงปลาในกระชัง อาหารที่ปลากินไม่หมด ไหลไปรวมกองสุมอยู่ที่ปากแม่น้ำ ส่งผบกระทบ เกิดแพลงตอน บรูม ตามมา
ดร.ธรณ์ ย้ำว่า การทำประมงแบบผสมผสานและยั่งยืน ที่ทางคณะประมง มก.กำลังดำเนินการแบบเต็มรูปแบบนั้น ที่เรียกว่า IMTA จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้การดำรงชีวิตของชาวประมงมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
การทำประมง IMTA ในช่วงนำร่อง เรานำกระชังขนาดใหญ่ ออกห่างจากชายฝั่ง กระชังแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเลี้ยงปลา ทางคณะประมงเลือกใช้ปลากะพงขาว เพราะเป็นปลาพื้นถิ่นและขายง่ายที่สุด ชั้นที่ 2 ใช้เลี้ยงหอยแมลงภู่ เนื่องจากหอยแมลงภู่เป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติเป็นตัวกรองน้ำชั้นเยี่ยม และบริเวณด้านล่างของกระชัง เป็นปลิงทะเล เพราะปลิงทะเลมีข้อดีคือ เป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูงมาก อีกอย่างคือจะเป็นตัวที่คอยกินขี้ปลา ไม่ให้หลงเหลือไปสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ ปลิงทะเลมีราคาค่อนข้างสูง เก็บขายได้ตลอดเวลา ตามแต่ขนาดที่ตลาดต้องการ ที่ปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน นอกจากนี้ บริเวณรอบๆ กระชังก็จะปลูกสาหร่ายพวงองุ่น
สำหรับการทำประมงแบบ IMTA ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายๆ ประเทศเขาทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น นอร์เวย์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ส่วนผลลัพธ์จะคุ้มค่าคุ้มทุนสำหรับการทำประมงในประเทศไทยหรือไม่ ดร..ธรณ์ บอกว่า "การทำงานวิจัย จะเป็นคำตอบว่าทั้งหมดจะมีความคุ้มทุนหรือไม่ เพราะในการทดลองนั้น ต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศ ราคาค่อนข้างสูง ซึ่งหากผลสรุปออกมาแล้วเป็นไปในทางบวก ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ราคาต่ำกว่านี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และเรื่องของการทำให้อาชีพประมงมีความยั่งยืน เสมอต้น เสมอปลาย นับเป็นความสำเร็จที่ทุกคนต้องการ"