xs
xsm
sm
md
lg

3 กระทรวง หนุน 8 องค์กรพันธมิตรร่วมขับเคลื่อน “การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



3 กระทรวง (ทส. กก. อว.)นำธงขับเคลื่อนประเทศไทย โดยมี 8 องค์กรพันธมิตรร่วมลงนามบันทึกความตกลงร่วมมือภายใต้โครงการคาร์บอนบาลานซ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเปิดงานพิธีลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือซึ่งประกอบด้วย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)

วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเว้นท์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือเรียกว่า “การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล” (Carbon Neutral Tourism) ให้กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชุมชนท่องเที่ยว นักเดินทาง นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบต่อโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยลดโลกร้อน

นายวราวุธ ศิลปอาชา
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่าในบทบาทที่ ทส.เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ตระหนักเสมอว่าการดำเนินกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆ ล้วนเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นแหล่งช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาลในแต่ละปี แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจการท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน 

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาเครื่องมือกลไกเพื่อนำไปสู่การจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในระดับต่างๆ ทั้งระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ บุคคล รวมทั้งกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังสามารถยกระดับความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นด้วยการชดเชยก๊าซเรือนกระจกในหน่วยเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยังเหลืออยู่จนมีค่าคาร์บอนสุทธิหลังชดเชยเป็นศูนย์ นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างสมดุล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ย่อมจะเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันนำเครื่องมือและกลไกที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจของตน การพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือใหม่เพื่อรองรับรูปแบบกิจกรรมการในท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยมีขั้นตอนในการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการปรับปรุง บริการขนส่ง ที่พัก อาหาร กิจกรรม และห่วงโซ่อุปทานอื่นๆ ที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง แล้วจึงดำเนินการชดเชยก๊าซเรือนกระจกจนมีค่าคาร์บอนสุทธิหลังชดเชยเป็นศูนย์ นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างสมดุลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตรงนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทยในตลาดสากลที่นับวันนักท่องเที่ยวนานาประเทศต่างก็ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเพิ่มขึ้น

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด BCG Model คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกิดการพัฒนา และปรับตัวเข้ากับกระแสท่องเที่ยวใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำนวัตกรรม เครื่องมือ และองค์ความรู้ที่ทันสมัยมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยว 

รวมถึงรณรงค์ให้เกิดกระแสของการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในหมู่นักท่องเที่ยวและประชาชน นำไปสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบคาร์บอนต่ำ หรือปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินการเรื่องดังกล่าวต้องเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ดังนั้นภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้กับ 8 หน่วยงาน จึงนับเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว ที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวสีขาว คือสะดวก สะอาด ปลอดภัย และรักษาสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าภายใต้โครงการคาร์บอนบาลานซ์ ของ 8 หน่วยงานพันธมิตร ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหน่วยงานของกระทรวง อว. 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข.

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบนโยบายให้ สกสว. และ บพข. สนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของการกำหนดให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การจัดงบประมาณการวิจัย รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย

การท่องเที่ยวถือว่าเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเราอยู่ในระดับโลก แต่โลกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก ดังนั้น การท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตามกระแสของโลกด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการนี้ได้ดำเนินการสอดรับกับกระแสนี้ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัลไม่ใช่ดีเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี

เกาะหมาก จังหวัดตราด พื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ
ด้าน นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เสริมว่า อพท.จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากที่เคยดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำจนมีพื้นที่ต้นแบบที่เกาะหมาก จังหวัดตราด จนได้รับรางวัล PATA Gold Awards สาขาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-สิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมการขับเคลื่อนโครงการฯ ในครั้งนี้ เพื่อร่วมยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ให้เป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นระบบ เพราะจากการทำงานของ อพท. ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เรามีองค์ความรู้ด้านการคำนวณ การลด การชดเชย และ การเชื่อมโยงสู่ภาคการตลาดต่อไป และ อพท. ยังมีแผนที่จะยกระดับกิจกรรมของชุมชนให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสามารถเลือกชดเชยคาร์บอนในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น

ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินงานร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ในไทย ให้มีการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ อันจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยในตลาดสากล นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับบทบาทของ 8 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ ภายใต้โครงการ คาร์บอนบาลานซ์ ได้แก่


1) ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่เหมาะสมกับบริบทของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย


2) สนับสนุนให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยว กิจกรรม บริการ และนวัตกรรม ที่จัดการด้วยแนวคิดนี้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดงานไทย


3) ส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวไทยและการจัดงานไมซ์ให้มีการนำแนวทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปใช้ในการจัดการและเข้าถึงแนวทางการออกแบบและสามารถชดเชยคาร์บอนได้โดยสะดวก


4) ร่วมดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


กำลังโหลดความคิดเห็น