องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ออกเป็นรายงานฉบับแรก เปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่าง คุณภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน และโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19
WMO ตรวจสอบความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่าง 3 ปัจจัย คือ คุณภาพอากาศกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรการล็อคดาวน์จากการควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 แม้ว่าได้รับข่าวดีในช่วงแรกๆ ว่าการระบาดของโรคเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การปล่อยมลพิษลดลง แต่สิ่งที่ตามมาอีกนั้นยังไม่จบ
ผลลัพธ์จากมาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลกำหนดและข้อจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 ส่งผลให้คุณภาพอากาศดีขึ้นในหลายส่วนของโลก ตัวอย่าง เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย) มีปัญหาอนุภาคในอากาศลดลง 40% ในปี 2563
นี่เป็นข่าวดี แต่เป็นข่าวดีแค่ช่วงสั้นๆ เพราะทันทีที่โรคระบาดคลายตัวลง การล็อคดาวน์ก็ไม่จำเป็นอีก การปล่อยมลภาวะก็จะเพิ่มขึ้นอีก แต่มันไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะ WMO ยังพบด้วยว่า ในช่วงเวลาเดียวกันเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมกลับทำให้เกิดพายุทรายและฝุ่นรวมถึงไฟป่าที่ยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
WMO กล่าวถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ว่า ระหว่างปีที่แล้วและในปีนี้ที่มีการล็อคดาวน์ ถึงแม้ว่ามนุษย์จะปล่อยมลภาวะลดลง (ซึ่งก็ไม่ได้ลดอย่างยั่งยืนอีก) ธรรมชาติยังทำหน้าที่แทนมนุษย์ในการทำให้ภาวะโลกร้อนติดลมบนจนกระทั่งไม่ต้องมีมนุษย์ ธรรมชาติก็ยังขับเคลื่อนกระบวนการทำลายคุณภาพอากาศด้วยตัวมันเอง
มีเหตุการณ์ที่รุนแรงมากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเผาไหม้ของมวลชีวภาพ โดยเฉพาะไฟป่าหลายพื้นที่ เช่น ในไซบีเรียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ไฟป่าเหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษจนเกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ และไม่ใช่แค่ในพื้นที่นั้น ๆ พวกเขายังพบว่า เหตุการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียยังทำให้คุณภาพอากาศลดลงอย่างมากในส่วนต่าง ๆ ของโลก
WMO ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสามารถส่งผลต่อระดับมลพิษโดยตรง พวกเขาบอกว่า ความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อนอาจนำไปสู่การสะสมของสารมลพิษใกล้พื้นผิวของโลกมากขึ้น รายงานระบุว่าไฟป่าที่รุนแรงได้ปะทุขึ้นในหลายส่วนของโลก ฝุ่นและพายุทรายขนาดมหึมายังทำให้มลพิษทางอากาศแย่ลงอีกด้วย
นี่คือความน่ากลัวของ "climate change" ถึงแม้ว่า น้ำมือมนุษย์จะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดเรื่องพวกนี้ แต่เมื่อมันติดลมบนแล้ว เราจะพบว่า ธรรมชาติเริ่มที่จะขับเคลื่อนการทำลายตัวเองโดยไม่ต้องยืมมือมนุษย์อีก ธรรมชาติแปรปรวนจนสร้างไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในช่วงเวลาแค่ 2 ปีมานี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงที่มนุษย์กักตัวเองและลดการสร้างมลพิษ
ถึงแม้มนุษย์จะกักตัวเองด้วยมาตรการล็อคดาวน์ และได้ชื่นชมกับท้องฟ้าสีครามไร้มลพิษและฝุ่นพีเอ็มช่วงสั้นๆ แต่เรายังไม่รอดจากผลกระทบระยะยาว ลองดูตัวอย่างที่นิวซีแลนด์ที่เป็นเกาะห่างไกลและเหมือนจะล็อคดาวน์ตัวเองจากโลกภายนอก ตอนนี้นิวซีแลนด์กำลังเจอกับผลของภาวะโลกร้อนที่คาดไม่ถึง
เมื่อไม่นานนี้สถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาติ (NIWA) ของนิวซีแลนด์ระบุว่า อุณหภูมิในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.32 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมที่เคยตั้งไว้ในปีที่แล้ว ทำให้ช่วงนี้เป็นฤดูหนาวที่อุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์ (นิวซีแลนด์มีฤดูหนาวอยู่ช่วงกลางปี เนื่องจากอยู่ในซีกโลกใต้)
นิวซีแลนด์ที่ดูเหมือนจะห่างไกลจากหายนะ หรือในออสเตรเลียที่เกิดไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในโลก ตอนนี้พวกเขาพบว่า สถานีตรวจวัดแห่งหนึ่งใกล้เมืองเวลลิงตันที่เคยบันทึกความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 320 ส่วนต่อล้านในช่วงต้นทศวรรษ 1970 แต่ตอนนี้ระดับอยู่ที่ 412 ส่วนต่อล้านส่วนหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 30%
WMO เตือนว่า มลพิษทางอากาศมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์ การประมาณการจากการประเมินภาระโรคทั่วโลกล่าสุด (Global Burden of Disease) แสดงให้เห็นว่า การเสียชีวิตจากมลพิษทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 2.3 ล้านคนในปี 2535 เป็น 4.5 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากฝุ่นละออง
ข้อมูลอ้างอิง
-Lisa Schlein. (September 3,
2021). "Air Quality, Climate Change Closely Linked". VOA.
·-Climate change blamed for New Zealand's warmest
winter. (September 4, 2021) AFP.
Photo by Mike Lewelling, National Park Service
-https://public.wmo.int/en/media/press-release/weather-related-disasters-increase-over-past-50-years-causing-more-damage-fewer