"ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ" รองผอ.มจร.วัดไร่ขิง ให้มุมมองและแง่คิด “กรณีเด็ก ม.6 ปล้นร้านทอง” แนะทุกฝ่ายมองปัญหาให้ชัดเห็นรอยปริร้าวในสังคม ชี้ใช้ แนวคิด “Eco-familization” หรือ "ระบบครอบครัวนิเวศ"สร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันและแก้ไขอนาคตของชาติ
ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยสงฆ์ (วส.) พุทธปัญญาศรีทวารวดี หรือ มจร.วัดไร่ขิง จ.นครปฐม ให้มุมมองและแง่คิดถึงเหตุการณ์ "กรณีเด็ก ม.6 ปล้นร้านทอง” ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ดูข่าวเด็กนักเรียนหญิง ม.6 บุกเดี่ยวปล้นร้านทอง ยิ่งติดตามก็ยิ่งสลดใจ หากมองผิวเผินในสิ่งที่ปรากฎอยู่ผิวน้ำ ก็ดูเหมือนเป็นพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงเพื่อสนองความฟุ้งเฟ้อของเยาวชน
แต่ในส่วนที่ลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเป็นรากเหง้าเกิดแรงกระตุ้นให้เด็กนักเรียนวัยสดใสต้องดับอนาคตตนเอง ก่ออาชญากรรม ทำเรื่องที่จะเป็นตราบาปกับชีวิตตลอดไป นั่นคือ ความปริแตกร้าวรานของสังคมรอบข้างที่ทำให้เด็กๆ เปราะบางต่อการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง
ความปริแตกร้าวรานที่ว่า เริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงสังคมรอบข้างที่แวดล้อมและมีอิทธิพลต่อเด็ก รวมทั้งสังคมเสมือนจริงที่ปรากฎอยู่ในสื่อออนไลน์ทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดกระชากให้เด็กกล้าลงมือทำสิ่งเลวร้ายอย่างตั้งใจ
เราพบเห็นเด็กๆ วัยที่กำลังเดินหน้าสู่การเป็นอนาคตอันยิ่งใหญ่ของชาติ คนแล้วคนเล่า ตัดสินใจก่ออาชญากรรม และดับอนาคตตนเอง แต่ก็ยังไม่มีกลไกใดๆในประเทศนี้จะเอาจริงเอาจังในการออกแบบวิธีการที่จะหยุดเด็กที่จะก่อาชญากรรมให้เหลือศูนย์ได้ เพราะมุ่งเป้าหมายในการแก้ปัญหาไปที่ตัวเด็ก โดยมองเด็กเป็นสาเหตุของปัญหา การติดกระดุมเม็ดแรกผิด มันก็พาลพาให้เสียทั้งขบวน
“เด็กทำผิด” มีโจทย์มากมายที่ต้องแก้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อม สื่อ ออนไลน์ การบังคับใช้กฎหมาย การกำกับดูแลด้านวัฒนธรรม การปลูกฝังค่านิยม เอาเป็นว่า ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจปัจจัยปัญหาที่เกิดจากอายตนะภายนอกของเด็กให้มาก
ผู้เขียนขอเสนอแนวคิด “Eco-familization” หรือ แนวคิดระบบครอบครัวนิเวศ ผู้เขียนเชื่อว่า มีครอบครัวจำนวนมากที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น พ่อแม่เปราะบางยิ่งกว่าลูก เพราะต้องกดดันภายใต้สารพัดกระแส สถานการณ์ของครอบครัวเช่นนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดความแตกสลายของครอบครัว
ปัญหาที่สำคัญ คือ เราจำกัดความคำว่าครอบครัวแค่เพียงขอบเขตของสมาชิกในบ้านเดียวกัน และเมื่อสมาชิกครอบครัวของบ้านนั้นเกิดปัญหา คนรอบข้างก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องตัวเอง ดังคำว่า “มันเป็นเรื่องของผัวเมียเขา เราคนนอกไม่ต้องยุ่ง” คิดแบบนี้ตายยกบ้านมาเยอะแล้ว
คำถาม???? ทำไมเราไม่ขยายขอบเขตของครอบครัวให้รวมสมาชิกคนข้างบ้าน คนรอบบ้าน คนในชุมชนเข้ามาด้วย ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า ระบบครอบครัวนิเวศ คือขยายความดูแล การใส่ใจต่อกันและกันให้กว้างขึ้นจากแค่ครอบครัวที่เป็นเพียงจำนวนสมาชิกในบ้าน ให้กลายเป็นครอบครัวที่ทุกคนรู้ร้อนรู้หนาวต่อทุกคนในระบบนิเวศน์ของชีวิตในชุมชน เมื่อเกิดกรณีครอบครัวเสี่ยงภัยเพราะความเปราะบางขึ้นมา มันจึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของสมาชิกในบ้าน แต่เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในครอบครัวนิเวศที่จะต้องขจัดปัญหา
หากเราทำระบบครอบครัวนิเวศขึ้นมาได้ วันนึงสังคมไทยจะอยู่ด้วยกันแบบไม่ต้องมีรั้วบ้าน หรือยิ่งไปกว่านั้น ไปไหนก็ไม่ต้องล๊อคกุญแจ