xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิกระจกอาซาฮี จับมือ มจธ.หนุนงานวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก้าวสู่ปีที่ 10 มูลนิธิกระจกอาซาฮี จับมือ มจธ. เดินหน้าหนุนงานวิจัย มอบ 7 ทุน รวมกว่า 10 ล้านเยน แก่นักวิจัยเพื่อพัฒนางานวิจัยพื้นฐานของประเทศประจำปี 2564

มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation-AF) ประเทศญี่ปุ่น มอบทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ติดต่อกันเป็นปีที่ 10 โดยในปี 2564 มีนักวิจัย มจธ.ได้รับทุน ทั้งสิ้นจำนวน 7 ทุน ใน 5 สาขาการวิจัย เป็นเงิน 5 ล้านเยน และมหาวิทยาลัยร่วมสมทบทุนวิจัยอีก 5 ล้านเยน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านบาท (เฉลี่ยโครงการละ 1.5 ล้านเยน หรือประมาณ 4 แสนบาท) โดยมีพิธีมอบทุนวิจัยผ่านระบบออนไลน์ขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.วรินธร สงคศิริ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์วิจัย กล่าวรายงาน มร.ทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Asahi Glass Company Limited (AGC) Inc. กล่าวแสดงความยินดี และรศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวต้อนรับ และลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อขยายระยะเวลาการสนับสนุนทุน ระหว่างปี พ.ศ.2565 – 2567 ตลอดจนร่วมมอบทุนให้กับนักวิจัยของ มจธ.


ทุนวิจัยอาซาฮีนี้ ถือเป็นทุนที่ให้ความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งทุนสำคัญของ มจธ.ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ และยังเป็นทุนที่ทำให้นักวิจัยได้ต่อยอดผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยขยายผลทำให้สามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดผลงานเชิงประจักษ์ ที่สำคัญยังช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ดร.ปภาพิต หิรัญสิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ.ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮีมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 10 แล้ว โดยในปีนี้มีนักวิจัย มจธ. ที่ได้รับการสนับสนุนทุนถึง 7 โครงการ ครอบคลุม 5 สาขาการวิจัย ซึ่งตรงกับความมุ่งหวังในการสร้างความเข้มแข็งตามกรอบยุทธศาสตร์วิจัยทั้ง 7 ด้านของ มจธ. เป็นเงิน 5 ล้านเยน นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้ร่วมสมทบทุนวิจัยอีก 5 ล้านเยน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านบาท

“ ในปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ที่ มจธ. ร่วมสมทบทุนสนับสนุนเพิ่มเติมหนึ่งเท่า เพราะมหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างรากฐานงานวิจัยที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และมีความประสงค์ที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมอาจารย์และนักวิจัยในทุกสาขา ให้สามารถพัฒนาศักยภาพทางการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยเกณฑ์การพิจารณาโครงการที่จะได้รับทุนวิจัย จะต้องเป็นโครงการที่ตอบโจทย์และสร้างผลกระทบทางสังคมได้ รวมไปถึงการต่อยอดงานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งการสนับสนุนจะถูกพิจารณาตามคุณภาพของข้อเสนอโครงการ รวมทั้งผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม โดยทางมจธ.จะจัดส่งผลการพิจารณาเบื้องต้นให้กับมูลนิธิกระจกอาซาฮีเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่จะได้รับทุนต่อไป”


สำหรับนักวิจัย มจธ.ที่ได้รับทุนวิจัยประจำปี 2564 ทั้ง 7 โครงการ ใน 5 สาขาการวิจัย ประกอบด้วย 1.สาขาวัสดุศาสตร์ ( Materials Sciences ) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ. ดร.นพพร รุจิสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง“การพัฒนาการเตรียมและวิเคราะห์เพอร์รอฟสไกท์โซลาร์แบบอนินทรีย์ : การศึกษาภาคทฤษฎีและทดลอง” เป็นการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของเพอร์รอฟสไกท์รวมถึงออปโตอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีไทยรูปแบบใหม่ที่จะเชื่อมโยงนักวิจัยไทย-ต่างประเทศและนักพัฒนาเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมในมิติใหม่ที่แตกต่างและมีคุณค่าคาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าของงานวิจัยระดับพื้นฐานของมจธ.สู่นวัตกรรมที่มูลค่าสูงระดับชาติต่อไป และ รศ. ดร. สนติพีร์ เอมมณี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนรูปแบบเสถียรของแผ่นวัสดุคอมโพสิตที่มีสมดุลเสถียรภาพสองตำแหน่ง” เป็นการศึกษาการปรับเปลี่ยนรูปร่างของโครงสร้างแผ่นวัสดุคอโพสิตที่สมดุลแบบเสถียรภาพสองตำแหน่งโดยการประยุกต์ใช้วัสดุเพียโซอิเล็กทริค มาเชื่อมบนผิวของโครงสร้างแผ่น คาดว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้จะสร้างมุมมองและกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับงานทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมในอนาคตเพื่อควบคุมการเปลี่ยนรูปร่างของวัสดุคอมโพสิตในโครงสร้างแบบแปรผัน

2.สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ดร.กานต์ธิดา กุศลมโน คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ในโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาไมโครไบโอมของมูลช้างไทยด้วยความละเอียดสูงเพื่อการจัดการด้านอาหารและการปรับปรุงสุขภาพ” เป็นการศึกษาไมโครไบโอมในมูลช้างไทยโดยใช้เทคโนโลยีออกฟอร์ดนาโนพอร์ในการอ่านลำดับพันธุกรรมของจุลินทรีย์ผ่านยีนฯ โครงการนี้จะทำให้เกิดการค้นพบกลุ่มจุลินทรีย์หลักของช้างไทยซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพและการจัดการด้านอาหารของช้างไทยในอนาคต และ ดร.ภุมรี นามเขียว หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาการตอบสนองระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ภายหลังการเหนี่ยวนำให้เกิดอะไมลอยด์ด้วยโมเลกุลขนาดเล็กในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงแบบ 3 มิติ เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์” เป็นการวิจัยเพื่อสร้างโมเดลจำลองการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์เบต้าชนิด 42 ในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์คือหนึ่งในโรคประสาทเสื่อมถอยที่พบมากในผู้สูงอายุแต่ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเนื่องจากกลไกการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้จะช่วยอธิบายกลไกการเกิดพยาธิสภาพในเซลล์ประสาทและจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการค้นคว้าวิจัยเพื่อหายารักษาโรคต่อไป

3.สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) 1 โครงการ คือ รศ. ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและการออกแบบกระบวนการออกซิเดชันขั้นสูงรูปแบบใหม่เพื่อกำจัดยาปฏิชีวนะและความเป็นพิษในน้ำเสียขาออก” เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อดื้อยา งานวิจัยนี้จึงมุ่งหวังที่จะพัฒนากระบวนการออกซิเดชันขั้นสูงรูปแบบใหม่ เพื่อใช้ในการกำจัดยาปฏิชีวนะและตรวจสอบความเป็นพิษที่หลงเหลือยู่ โดยงานวิจัยจะทำการทดสอบผลกระทบของปัจจัยการดำเนินการและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีต่อประสิทธิภาพเพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการบำบัดที่มีอยู่เดิมได้ 

4. สาขาพลังงาน (Energy) 1 โครงการ คือ ดร.ไตรรัตน์ เมืองทองอ่อน ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์คุณสมบัติของไบโอชาร์ที่เตรียมจากขยะเศษอาหาร (Food Waste-to-Char Characteristics obtained from Various Kinds of Food Waste)” เป็นงานวิจัยที่ต้องการส่งเสริมแนวทางเลือกในการกำจัดเศษอาหารโดยใช้วิธีการเปลี่ยนสภาพขยะเศษอาหารให้เป็นเชื้อเพลิงผ่านกระบวนการไพโรไลซิสเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับเชื้อเพลิงจากเศษอาหารและเป็นไปตามแนวทางของแผนการปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน 

และ 5.สาขาวิทยาการสารสนเทศ 1 โครงการ คือ ดร.เทพโยธิน ปาล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ในโครงการวิจัยเรื่อง “Measuring the End-user Experience with Voice-assistants: From Usability to Acceptance” งานวิจัยนี้จะทำการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวบ่งชี้คุณภาพ ที่จะนำมาซึ่งการยอมรับในการใช้งานของอุปกรณ์ Voice-assistants (VA) เนื่องจาก VA เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่มีรูปแบบการทำงานเฉพาะสำหรับแต่ละคน แต่เนื่องจากความต้องการของแต่ละคนมีหลากหลาย ทำให้การออกแบบการสื่อประสานด้วยภาพ (Graphical User Interface: GUI) หรือการสื่อประสานด้วยเสียง (Voice-based System) เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการสร้าง VA เพื่อการใช้งานของคนแต่ละคนได้อย่างตรงตามที่ต้องการ ดังนั้น การออกแบบการสื่อประสานด้วยภาพหรือการสื่อประสานด้วยเสียงนั้น ต้องพิจารณาเรื่องของตัวบ่งชี้คุณภาพ (Usability) เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยฯ กล่าวว่า “ โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮีในแต่ละปีนั้น ล้วนมีความน่าสนใจ และสามารถช่วยตอบปัญหาหรือเป็นรากฐานในการตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบันและสร้างผลกระทบทางสังคมได้เป็นอย่างดี โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2555 - 2564 มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมาแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ แบ่งเป็น Material Science 12 โครงการ, Life Science 15 โครงการ , Information Sciences & Automatic Control 10 โครงการ , Environment 9 โครงการ และ Energy 7 โครงการ รวมเป็นงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี สูงถึง 31 ล้านเยน หรือประมาณ 9.5 ล้านบาท ทั้งนี้ ทาง มจธ.คาดหวังว่าจะยังคงมีความร่วมมือที่ดีต่อกันอย่างต่อเนื่องและอาจมีการหารือร่วมกับทางมูลนิธิฯ เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”