เมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก Waste War Thailand และ CHULA Zero Waste ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการนำขวดเพ็ตรีไซเคิล หรือ rPET มาใช้บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีสองมาตรฐานหรือไม่ “แล้วจะเอาอย่างไรแน่! ทีน้ำดื่มน้ำแร่นำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้ขวด rPET กลับให้วางขายได้”
ในขณะที่การใช้ rPET บรรจุอาหารกับเครื่องดื่มในประเทศไทยยังทำไม่ได้ แต่น้ำดื่มนำเข้าบรรจุขวด rPET กลับวางขายได้ ดูจากในรูป ไม่ใช่แค่ยี่ห้อเดียวด้วย แสดงว่าจริงๆ แล้ว rPET ก็ปลอดภัยแล้วใช่ไหม
ปัจจุบัน ทั่วโลกตอบรับแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งหนทางหนึ่ง คือ ต้องสร้างความต้องการให้กับพลาสติกรีไซเคิล โดยพลาสติกที่ใช้กันมากในตอนนี้ คือ PET ซึ่งมีการใช้บรรจุอาหารและเครื่องดื่มหลากหลาย
และหลายประเทศทยอยปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเรื่อง food safety ให้สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ rPET ได้ เนื่องจากปัจจุบัน อุตสาหกรรมรีไซเคิลมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Solid State Polymerization ในการปรับปรุงคุณภาพพลาสติกรีไซเคิลได้เหมือนเม็ดพลาสติกใหม่
ทว่าทาง อย. ของไทยก็ยังไม่ได้ปรับแก้กฎระเบียบ แถมยังจัดทำร่างคู่มือที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ อีก ในขณะที่ผู้ผลิตในประเทศไทยพยายามผลักดันให้อย.ปรับแก้กฎระเบียบ แต่กลับพบว่า น้ำแร่บรรจุขวดที่นำเข้าจากต่างประเทศที่วางจำหน่ายในประเทศไทยและได้ฉลาก อย. ด้วยนั้นกลับใช้ขวด rPET ได้!!!
เลยกลายเป็นความงุนงงในงง เข้าใจว่าหลุดจากการตรวจสอบควบคุมของ อย. ไม่รู้ว่าปล่อยมานานแค่ไหน แต่ถ้าคนไทยที่ดื่มน้ำแร่ยี่ห้อนี้ (รวมทั้งคนในประเทศที่ผลิต) ไม่ได้มีผลกระทบสุขภาพย่อมแสดงว่าการนำวัสดุพลาสติกรีไซเคิล rPET น่าจะใช้ได้กับบรรจุภัณฑ์อาหาร
“ในเรื่องการนำขวด PET ไปใส่สารเคมีอันตรายอื่นๆ นั้น คิดว่าเป็น % ที่น้อยมากๆ และคิดว่ากระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิตและโรงงานรีไซเคิลก็น่าจะไว้ใจได้ ถ้าใช้เทคโนโลยีระดับเดียวกับที่ต่างประเทศใช้ ยังไงฝากอย.ปรับแก้กฎระเบียบนี้โดยเร็วเถอะ และฝากพิจารณาข้อกฎหมายที่ควบคุมการใช้ oxo กับบรรจุภัณฑ์พลาสติกสัมผัสอาหารจะดีกว่านะ เพราะมันแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกเร็วขึ้นและเข้าสู่ร่างกายกระทบสุขภาพของคนได้”