โมเดล What a Waste 2.0 ธนาคารโลก (World Bank) ต้องการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงการบริหารขยะทั่วโลก
โดยให้สาธารณชนรับทราบในเชิงลึก เพื่อหวังว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาอย่างแท้จริงในอนาคต ตามเป้าหมาย ปี 2050
จากสถิติที่ว่า โลกใบนี้สร้างขยะบนผืนดินทั่วโลกราวปีละ 2.01 พันล้านตันต่อปี และราว 33% ของทั้งหมดไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม หรือปริมาณขยะต่อประชากร 1 คน เฉลี่ยประมาณ 0.74 กิโลกรัม หรืออยู่ในช่วงระหว่าง 0.11–4.54 กิโลกรัม และมีเพียง 16% ของประชากรในประเทศที่รายได้สูงสร้างขยะราว 34% หรือราว 683 ล้านตัน ของขยะทั่วโลก
แนวโน้มในอนาคตคาดว่า ขยะโลกจะเติบโตราว 3.4 พันล้านตัน ในปี 2050 ด้วยอัตราการเติบโตมากกว่าอัตราการเกิดของประชากรโลกมากกว่า 2 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน และยังมีข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางบวกหรือไปในทิศทางเดียวกันระหว่างการสร้างขยะของโลกกับระดับรายได้ด้วย
โดยในปี 2050 การสร้างขยะต่อคนของประเทศรายได้สูงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 19% เทียบกับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 40% ขึ้นไป และปริมาณขยะที่สร้างขึ้นในประเทศรายได้ต่ำจะเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าในปี 2050 โดยเฉพาะในแอฟริกาบริเวณซับซาฮารา เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะมีอัตราการเพิ่มสูงสุด ในขณะที่ย่านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จะสร้างปริมาณขยะเป็นจำนวนชิ้นสูงสุดตามลำดับ
ข้อมูลทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับโมเดล Waste 2.0: A Global Snapshot of Solid Waste Management to 2050 งานเขียนของทีมที่ประกอบด้วย Silpa Kaza, Lisa Yao, Perinaz Bhada-Tata, and Frank Van Woerden. โดยงานศึกษาของทีมที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนดำเนินงานจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านหน่วยงานของธนาคารโลก the World Bank’s Tokyo Development Learning Center (TDLC). โดยผลการศึกษาได้เสนอแนะแนวทางเชิงกลยุทธ์
What a Waste 2.0 เป็นข้อมูลสารสนเทศที่มีความจำเป็นที่ช่วยให้ทั่วโลกความเข้าใจว่าเกิดสถานการณ์เลวร้ายใดบ้างกับโลกใบนี้ รวมทั้งข้อมูลส่วนที่แย่ที่สุด (worst data) และธนาคารโลกต้องการเปิดเผยข้อมูลนี้เพื่อแสดงถึงการบริหารขยะทั่วโลก ด้วยการใช้คำว่า What a Waste 2.0 : Global Snapshot on solid Waste Management to 2050
ประการที่ 1 ข้อมูลแสดงว่าสถานการณ์บางส่วนดีขึ้นบ้าง ในส่วนของบริการด้านการเก็บขยะในประเทศรายได้ต่ำที่เพิ่มขึ้น 22% ในปี 2012 เป็น 39% แต่ยังต้องเพิ่มความพยายามในการจัดการกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และผลกระทบที่สร้างความเสียหาย เช่น สภาพการณ์ที่ด้อยสุขภาวะจนอันตรายต่อสุขภาพ การหลบหนีของพลาสติกสู่ทะเล มลภาวะทางอากาศจากการเผาขยะ และการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่าไป
ประการที่ 2 ปริมาณขยะที่เกิดทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนน่าเป็นห่วงในหลายภูมิภาค
ประการที่ 3 อัตราความครอบคลุมของการเก็บขยะมีการปรับปรุงและพัฒนาดีขึ้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ในโลกที่ยังไม่เพียงพอในด้านบริการการเก็บขยะ ทำให้ประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ ประชากรน้อยกว่า 50% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการการเก็บขยะ
ประการที่ 4 วิธีการเทกองและการเผาขยะยังคงเป็นวิธีการหลักในการกำจัดขยะของพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยส่วนใหญ่ของโลก อย่างน้อยกับประชากร 33% ขึ้นไป และในประเทศรายได้ต่ำอาจจะใช้วิธีการทิ้งกองไม่น้อยกว่า 93%
ประการที่ 5 สัดส่วนของพลาสติกและกระดาษที่อยู่ในกระแสการไหลของขยะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญของการเกิดการหลบหนี เล็ดลอดของขยะพลาสติกลงสู่ทะเล และมลภาวะทางอากาศจากการเผาพลาสติก โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำและค่อนข้างต่ำ
ประการที่ 6 ขยะที่เป็นออร์แกนิกยังคงเป็นส่วนใหญ่ของปริมาณขยะ สะท้อนถึงการบริหารจัดการขยะออร์แกนิกที่ย่ำแย่ ทำให้เกิดสุขภาวะต่ำกว่ามาตรฐาน ภาวะเรือนกระจกจากการขาดการจัดการขยะที่เหมาะสม รวมทั้งกลุ่มขยะอาหารที่ไม่ได้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่แรกอย่างเหมาะสม
ประการที่ 7 มีการใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาบริหารจัดการขยะและบริหารทรัพยากรและเปิดเผยอย่างโปร่งใสเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้สูง อย่างน้อย 29 ประเทศ และ 49 เมืองหลักที่มีระบบงานในการรายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีการสงสัยว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่าที่ออกมารายงานหรือไม่
บทสรุปสำคัญของ What a Waste 2.0 : Global Snapshot on solid Waste Management to 2050 คือการสร้างมุมคิดเชิงระบบเพื่อจะสามารถวางตำแหน่งของการต่อสู้ต่อความท้าทายนี้ และยังแสดงถึงความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของหลายประเทศ หลายเมืองหลักทั่วโลก แม้ว่าจะยังมีความเหลื่อมล้ำในการบริหารจัดการขยะทั่วโลก หรือแม้แต่ในเมืองเดียวกัน ก็ยังมีย่านคนจนคนรวยที่มีความแตกต่างกัน ไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมกัน
เท่ากับว่าธนาคารโลกใช้ What a Waste 2.0 : Global Snapshot on solid Waste Management to 2050 ในการเขย่าโลกด้วยข้อมูลที่ครบวงจร ทุกพื้นที่อย่างแท้จริง และเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบในเชิงลึก เพื่อหวังว่าจะเป็นอิฐที่สามารถถอดบทเรียนแต่ละก้อนสู่การปรับปรุงและพัฒนาอย่างแท้จริงในอนาคต