xs
xsm
sm
md
lg

ชมคลิป แยกขยะแบบเยอรมนี “หนึ่งของโลกด้านรีไซเคิล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เยอรมนี ยังเป็นประเทศผู้นำทางด้านรีไซเคิล กว่า 67% ของขยะถูกนำไปรีไซเคิล และเป็นอัตราสูงที่สุดในโลก จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าเพราะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลเท่านั้น ส่วนสำคัญที่สุดที่นำเยอรมนีไปสู่ความสำเร็จ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวเยอรมัน

รัฐบาลเยอรมนี มีกฎหมายและมาตรการจัดการขยะที่เข้มแข็ง รัฐทั้ง 16 รัฐนั้นมอบหมายให้มีมาตรการจัดการขยะของตนเอง จึงเป็นหน้าที่ของเทศบาลของแต่ละเมืองที่เข้ามาดูแล ตั้งแต่การเก็บ การลำเลียงไปกำจัด หรือรีไซเคิล

ด้านธุรกิจเอกชน ผู้ผลิตสินค้า แต่ละบริษัทต้องเป็นคนรับผิดชอบขยะที่เกิดมาจากสินค้าของตัวเองด้วย ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป ส่วนการแยกขยะในครัวเรือน ก็จะมีการแบ่งแยกตามสีของถังขยะ ทั้งนี้ทางเทศบาลของเขาค่อนข้างเข้มงวดกับการจัดการขยะมาก หากใครไม่ทำตามกฎอาจจะโดนค่าปรับสูงสุด อยู่ที่ประมาณ 87,000 บาท

ขณะที่ชาวเยอรมันเอง ทุกวันนี้เขาให้ความร่วมมือในการรีไซเคิลเป็นอย่างมาก อ้างอิงจาก Statista ประชากรกว่า 80% นั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้ามาก ว่าต้องสามารถนำไปรีไซเคิลได้

นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรม การจัดการขยะและรีไซเคิลของเยอรมนีกลายเป็นอีกอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไปด้วย โดยมีจำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะมากถึง 11,000 บริษัท มีพนักงานรวมกว่า 270,000 คน สร้างรายได้รวมสูงถึง 2.4 ล้านล้านบาทต่อปี และมีโรงงานเกี่ยวกับการจัดการขยะรวม 15,500 แห่งทั่วประเทศ




เรื่องเล่าในคลิปนี้ โดยคุณ pattamai เธอพาไปชมของจริงว่าที่นั่นเขามีระบบจัดการขยะที่ดีอย่างไรถึงทำให้พวกเขากลายเป็นประเทศที่รีไซเคิลได้มากมาย ที่จริงปริมาณของขยะก็อาจจะไม่ได้ต่างจากบ้านเราสักเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าเขามีระบบการจัดการที่แตกต่างจากเราอยู่หลายขุมเท่านั้นเอง

pattamai เธอบรรยายใต้คลิปนี้ไว้ว่า “ขอสารภาพว่าตอนมาถึงแรกๆ นี่งงตาแตกกับหลักการแยกขยะที่ยิบย่อยและยุ่งยากมากๆ ของเยอรมัน (ผ่านมาปีกว่าแล้วก็ยังแอบงงๆ อยู่) คนที่นี่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมากๆ มันได้เป็นแค่กฎเกณฑ์ แต่เป็นนิสัยและความเคยชินไปแล้วว่าเขาต้องแยกขยะและรีไซเคิลให้มากที่สุด อย่างโฮสต์เราถึงจะมีฐานะค่อนข้างดีแต่ก็จะเอาถุงซิปล็อกที่ใช้แล้วมาล้างแล้วล้างอีกจนมันขาดเป็นรูนั่นแหละ...555 ถึงจะเลิกใช้ ยอมใจมากๆ กับนิสัยการใส่ใจสิ่งแวดล้อมขนาดนี้”

อย่างขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องที่ใช้แล้ว เขายังไม่ทิ้งเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ เยอรมนีมีระบบ Pfand คือระบบมัดจำ คนที่นั่นเขาจะเอาขวดไปคืนที่ตู้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วได้บิลมาแลกเงินมัดจำคืน หรือจะเก็บไว้เป็นส่วนลดเวลาซื้อของก็ได้.

อีกอย่างที่น่าสนใจคือ Mülltrennung หรือระบบการแยกขยะแบบเข้มงวดมาก ถ้าใครเพิ่งเดินทางไปเยอรมนีครั้งแรก อาจนึกว่าเราจะแยกให้ถูกได้ไง เรื่องนี้ทางการของเขารวดเร็ว เราย้ายมาอยู่เยอรมัน ทันทีที่ถึง เมืองที่อยู่ เขาก็จะส่งจดหมายส่งมาบอกว่าต้องแยกขยะอะไรบ้าง ขยะประเภทใดต้องทิ้งลงในถังสีอะไร รวมถึงให้ข้อมูลอีกว่าจะเข้ามาเก็บขยะวันไหน (มีวันเก็บขยะแต่ละประเภท เช่น ขยะที่นำไปเผา กระดาษ หรือขยะชิ้นใหญ่พวกเฟอร์นิเจอร์ก็มีวันเก็บ) มาตรการที่เข้มงวด และเด็ดขาดมากก็คือถ้าเกิดเราเอาขยะไปวางผิดประเภท เขาก็จะไม่เก็บให้ แถมส่งใบเตือนมาฝากด้วย

Sperrmüll หรือวันทิ้งขยะชิ้นใหญ่ เฟอร์นิเจอร์ก็มีความสนุกสนาน Sperrmüll เป็นระบบที่ดีที่สนับสนุนให้คนใช้ของมือสอง เพราะคนจะเอาของที่ไม่ใช้แล้วมาวางไว้หน้าบ้าน แล้วคนอื่นก็มาหยิบไปใช้ต่อได้เลย ลองมองหาดีๆ อาจจะได้ของที่ยังดูใหม่เอี่ยมมาใช้ด้วยละ

การมีระบบการจัดการดีๆ ช่วยให้ขยะได้ไปอยู่ในที่ที่ถูกต้อง ได้รับการจัดการหลังใช้งานถูกวิธี แทนที่จะไปรวมกันเป็นกองขยะมหาศาล บางอย่างก็ได้ใช้ประโยชน์ต่ออย่างขยะชิ้นใหญ่ในวัน Sperrmüll

ขอบคุณคลิปจากคุณ pattamai (https://www.youtube.com/channel/UCvqzUHs9MCOVW6OJVo6BR1w)
ข้อมูลอ้างอิง CHULA Zero Waste, pattamai


กำลังโหลดความคิดเห็น