กรมอนามัย เผยมีสถานประกอบการประเภทศาสนสถานประเมินผ่าน Thai Stop COVID Plus จำนวน 12,198 แห่ง โดยประเมินผ่านเกณฑ์ 10,484 แห่ง ประเมินไม่ผ่าน เกณฑ์ 1,714 แห่ง พร้อมย้ำศาสนสถานยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานประกอบการประเภทศาสนสถาน ได้แก่ วัด โบสถ์ มัสยิดและสถานที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนายังต้องคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีศาสนสถานได้ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus จำนวนทั้งสิ้น 12,198 แห่ง โดยประเมินผ่านเกณฑ์ จำนวน 10,484 แห่ง และประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1,714 แห่ง ซึ่งเกณฑ์ที่ศาสนสถานดำเนินการไม่ผ่านเกณฑ์ 3 อันดับแรก คือ 1) กำหนดเส้นทางเข้า–ออก ศาสนสถานให้ชัดเจน และการลงทะเบียน ร้อยละ 10.94 2) ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ พื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ ร้อยละ 5.83 และ 3) มีการคัดกรองผู้เข้ามาในศาสนสถานทุกคน และไม่อนุญาตให้ผู้มีอาการไข้ ไอ หรือเป็นหวัดหรือมีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมา เข้ามาภายในบริเวณศาสนสถาน ร้อยละ 3.56 จึงขอให้ศาสนสถานที่ยังไม่ผ่านการประเมินได้ปรับปรุงและพัฒนาในส่วนที่ต้องดำเนินการดังกล่าว เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการในศาสนสถานทุกแห่ง และสำหรับศาสนสถานที่ผ่านการประเมินแล้วนั้น ยังคงต้องคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดในพื้นที่และประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่กำหนดให้ปฏิบัติด้วย
โดย นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยยังคงขอความร่วมมือศาสนสถานต่าง ๆ ได้ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ดังนี้
1.มีการคัดกรอง ผู้เข้ามาในศาสนสถานทุกคน และไม่อนุญาตให้ผู้มีอาการไข้ ไอ หรือเป็นหวัด หรือมีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมา เข้ามาภายในบริเวณศาสนสถาน
2.ให้ประชาชนที่มารับบริการ และผู้ให้บริการแผนกต่าง ๆ ในศาสนสถานทุกคน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติศาสนพิธี/ปฏิบัติธรรม
3.ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ พื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ อย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง
4.จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ และเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ
5.ควบคุมจำนวนผู้มาประกอบพิธีไม่ให้แออัด กำหนดจุดระยะห่าง 1-2 เมตร
6.จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีที่ใช้เครื่องปรับอากาศให้ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
7.จัดให้มีถังขยะเพียงพอ และมีการจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้อง เป็นประจำทุกวัน
8.กำหนดเส้นทางเข้า–ออก ศาสนสถานให้ชัดเจน และการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากศาสนสถานผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”และประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย”
9.มีช่องทางการทำบุญออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสสิ่งของและลดผู้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา
10. มีนโยบายป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
11. มีแผนป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อรองรับกรณีที่พบพนักงานติดเชื้อและมีการซักซ้อมแผน
ทั้งนี้ หากพบผู้ติดเชื้อในวัด ศาสนสถาน ชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง ให้งดกิจกรรมทางศาสนาและปิดสถานที่ตามเจ้าพนักงานควบคุมโรคกำหนด และทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณสถานที่โดยรอบและพื้นผิว โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิด ประตู ราวบันได รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว