xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ-วัดป่าศรีแสงธรรม-กฟผ. ร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG พัฒนาศูนย์วิจัยพลังงานและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อวิถีชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลงนาม MOU ศูนย์วิจัยพลังงานและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564
คณะวิศวะฯ จุฬาฯ วัดป่าศรีแสงธรรม และ กฟผ. ร่วมลงนามความร่วมมือศูนย์วิจัยพลังงานและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อวิถีชุมชนท้องถิ่น เพื่อต่อยอดสนับสนุนการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีพลังงานและการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับชาวอุบลอย่างยั่งยืน สอดรับการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy)

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวัดป่าศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้ลงนาม MOU ศูนย์วิจัยพลังงานและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรให้ชุมชนในพื้นที่สามารถพัฒนาตนเองแบบยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ตลอดจนเพื่อรองรับการพัฒนาพลังงานและการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อร่วมพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต
พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม กล่าวว่า วัดป่าศรีแสงธรรมได้พัฒนาพลังงานและการเกษตรให้กับชุมชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องโดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการพัฒนา โดยมีโรงเรียนต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์และ ศูนย์เรียนรู้อบรมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ การลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานรูปแบบใหม่ๆ และการพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวิถีชีวิตชุมชน วัด และโรงเรียน ในพื้นที่ ทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับผู้เข้ามาศึกษาดูงานต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่จริง จะทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง สำหรับวัดป่าศรีแสงธรรมถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาพลังงานและการเกษตรที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งจุฬาฯ และ กฟผ. จะเข้าไปช่วยต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนตามทิศทางของประเทศ

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน. กล่าวอีกว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจหลักควบคู่กับการดูแลชุมชนมาและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเสมอมา โดยร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตาม BCG โมเดล ต่อยอดผ่านโครงการปลูกป่าทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานเบอร์ 5 โครงการห้องเรียนสีเขียว และโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะสอดคล้องและส่งเสริมการดำเนินงานของ กฟผ. ที่จะช่วยพัฒนาพลังงานและการเกษตร รวมถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน พร้อมเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมศึกษาและวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียน การเกษตร และเทคโนโลยี ทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งและใช้งานอุปกรณ์ เครื่องจักร ด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ กังหันลม ระบบก๊าซชีวภาพ เป็นต้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและสังคมอย่างยั่งยืน