xs
xsm
sm
md
lg

ชมฝูงวัวแดง อวดโฉมเต็มทุ่ง! 1 ใน 7 สัตว์ป่าที่ยิ่งใหญ่แห่งห้วยขาแข้ง และผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝูงวัวแดงห้วยขาแข้ง
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ฝูงวัวแดงในเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง กว่า 30 ตัว ออกมาโชว์ตัวเต็มทุ่งหญ้าอย่างมีความสุขท่ามกลางสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่จบง่าย ซึ่งหากใครสงสัยว่า วัวแดงเป็นผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพรอย่างไร คำตอบ ก็คือ พวกเขาคือเหยื่อหมายเลขหนึ่งของเสือโคร่ง

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ลงพื้นที่หอนกยูง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อเดินทางถึง ภาพข้างหน้าในระยะทั้งใกล้ และไกล พบว่ามีฝูงวัวแดง 2 ฝูง นับได้รวม 33 ตัว เป็นตัวเต็มวัย 26 ตัว ตัวน้อยๆ อีก 7 ตัว

ผอ.สบอ.12 (นครสวรรค์) เล่าความประทับใจให้ฟังว่า ทันทีที่เดินทางมาถึง ก็พบฝูงวัวแดงกำลังแทะเล็มหญ้าอยู่อย่างเอร็ดอร่อย บางตัวก็นอน บางตัวกินผลมะเดื่อซึ่งกำลังสุก บางตัวกินดินโป่ง ให้นมลูบ้าง ใช้เขาขวิดเล่นกันบ้าง เล่นกับฝูงนกยูงก็มี ตัวไหนชอบความเงียบสงบก็เดินแยกตัวไปอยู่ลำพัง ถือเป็นอิริยาบถที่เรียบง่าย ดูพวกเขาช่างสุขใจยิ่งนัก สังเกตุเห็นฝูงวัวแดงแทะเล็มหญ้าไปได้ซักประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วก็นอนพักผ่อนประมาณ 30 นาที แล้วลุกขึ้นมาแทะเล็มหญ้าต่อแบบนี้วนไปเกือบทั้งวัน

เป็นภาพตื่นตา! หากใครได้มาเห็นจริงๆ แต่เพียงแค่ชมภาพก็สัมผัสได้ถึงความชุ่มชื่น เบิกบาน เมื่อเห็นฝูงวัวแดงโชว์ตัวกลางทุ่งหญ้าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างต่อเนื่อง

“ภาพที่บันทึก ชมบนหอส่องสัตว์ “หอนกยูง” ซึ่งเป็นระยะปลอดภัยของทั้งผู้ชมและสัตว์ป่า ที่ทางเขตฯ จัดไว้ให้ แต่ตอนนี้เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงปิดให้บริการ ไว้สถานการณ์เป็นปกติ ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าไปเที่ยวชม และเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติแห่งนี้

ช่วงบ่ายวันที่ 16 มิ.ย.64  เข้ามาเล็มหญ้าสองฝูง นับได้ 33 ตัว


เครดิตคลิป ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

"จุดชมที่หอนกยูง ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ขสป.ห้วยขาแข้ง ก็จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเขาไปชมธรรมชาติของสัตว์ป่า
ซึ่งระยะนี้เป็นระยะที่ปลอดภัยทั้งกับสัตว์ป่าและผู้เข้าชมต่างไม่รบกวนซึ่งกันและกัน แต่ช่วงนี้โควิดยังไม่น่าไว้วางใจ ชื่นชมภาพนิ่ง ภาพในคลิปกันไปก่อน"

ภาพที่บันทึก ชมจากหอนกยูง ซึ่งเป็นจุดที่ดูได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่รบกวนสัตว์ป่า
1 ใน 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้ง

สำหรับวัวแดง ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเคยเผยแพร่ใน BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้งในตอน : 'วัวแดง' ผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร ได้ระบุเอาไว้ว่า

วัวแดง หรือ วัวเพลาะ (Banteng) เป็นสัตว์ป่าที่เราน่าจะคุ้นเคยกันบ้าง แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องการแยกแยะ ‘วัวแดง’ กับ ‘กระทิง’ ออกจากกัน
แต่แท้จริงแล้ว วัวแดง เป็นสัตว์ในวงศ์วัวและควายเช่นเดียวกับกระทิง ... เท้ากีบเหมือนกัน เขาไม่แตกกิ่งเหมือนกัน กินพืชเหมือนกัน เคี้ยวเอื้องเหมือนกัน ส่วนรูปร่างก็ยังคล้ายคลึงกัน แถมใส่ถุงเท้าขาวเหมือนกันอีกต่างหาก...จัดว่าเป็นปัญหาของชาวสัตว์ป่ามือใหม่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีจะพบว่า วัวแดง มีขนาดตัวเล็กกว่ากระทิงเพียงเล็กน้อย การสังเกตด้วยลักษณะภายนอกจึงเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ แนะนำให้ดูที่ก้น หรือบั้นท้าย ถ้าลองเดินวน ๆ ไปดูข้างหลัง...วัวแดง จะมีวงสีข้าวที่ก้นทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งจุดนี้กระทิงไม่มี

เรามักพบเห็นวัวแดงได้ตามป่าโปร่ง เพื่อหากินแทะเล็กใบหญ้า ผลไม้ หรือยอดอ่อน ๆ ของไม้พุ่ม และมักจะหลบภัยหรือพักผ่อนในป่าทึบ เห็นรูปร่างแบบนี้...กลับเคลื่อนไหวหลบหนีภัยได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ไม่อืดอาดเหมือนวัวบ้าน

ทั้งยังขึ้นชื่อว่ามีประสาทการดมกลิ่นขั้นดีเลิศ มีประสาทหูและตาในระดับดี ... ใช่ว่าจะตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าได้ง่ายดายนัก

ในประเทศไทย เราพบการกระจายตัวของวัวแดงอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ฯลฯ...และที่สำคัญคือ...เป็น ‘7 สัตว์ป่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’

วัวแดง แตกต่างจากกระทิง โปรดสังเกตที่ก้น มีวงสีขาวทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งจุดนี้กระทิงไม่มี
ผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร


ด้านความเป็นอยู่ของวัวแดงในระบบนิเวศ คือ ‘เหยื่ออันโอชะของเสือโคร่ง’ ตามกฎของธรรมชาติที่เสือโคร่ง กลายเป็นผู้ล่าเอามาเป็นอาหาร จึงเป็นศัตรูตัวฉกาจในธรรมชาติของวัวแดง และด้วยสรีระของวัวแดง หากเสือโคร่งล่าวัวแดงได้ เราอนุมานได้ว่า...เสือโคร่งตัวนั้นต้องมีความแข็งแรงอย่างมาก

มันคือ...ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้อย่างดี...และนั่นคือเหตุผลที่เรายกให้วัวแดง เป็น ‘ผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร’

นั่นก็เพราะ วัวแดง ถือเป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง ความเป็นอยู่อันสุขสบายของเสือโคร่ง ย่อมมีปัจจัยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อด้วย  การที่มีวัวแดงชุกชุม จึงเท่ากับบอกถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง

สถานภาพในปัจจุบันของวัวแดง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)

แต่เรื่องที่น่ายินดีอย่างหนึ่งสำหรับประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเพาะพันธุ์วัวแดงเพื่อปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี พื้นที่ซึ่งวัวแดงเคยสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับมาฟื้นฟูจำนวนประชากรใหม่ได้อีกครั้ง...

ทั้งนี้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ยืนยันอีกว่า...“สัตว์ป่า แต่ละชนิดล้วนแต่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน พวกมันทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลในระบบ ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ดังนั้น ไม่ว่าจะเหตุผลกลได้ก็ตาม สัตว์ป่าย่อมมีคุณค่ามากที่สุดเมื่ออยู่ในผืนป่า มิใช่ในกรงเลี้ยง”

ข้อมูลอ้างอิง :
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าWildlife Conservation Office, Thailand
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


กำลังโหลดความคิดเห็น