อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการนำขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศไทย ระหว่างคำว่า “เศษพลาสติก” กับ “ขยะพลาสติก”
เมื่อวานนี้ (15 มิถุนายน 2564) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการนำขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศไทย คพ.ขอชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบว่า “ขยะพลาสติก”และ “เศษพลาสติก”มีความแตกต่างกัน ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ความหมายของ “ขยะพลาสติก” และ “เศษพลาสติก” พ.ศ. 2564
“ขยะพลาสติก” หมายถึง ชิ้นงาน หรือ ชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้งานแล้วหรือไม่ก็ตาม จนถูกนำไปทิ้ง หรือ ไม่เป็นที่ต้องการใช้อีกต่อไป หรือ เสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้ หรือ มีการปนเปื้อนกับขยะอื่นหรือวัสดุประเภทอื่น
ขณะที่ “เศษพลาสติก” หมายถึง เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตาม ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรการนำเข้าพลาสติกที่ผ่านมา เป็นการนำเข้า “เศษพลาสติก” เพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ใช่การนำเข้า “ขยะพลาสติก”
นายอรรถพล ให้ข้อมูลว่าในปี 2563 มีการนำเข้าเศษพลาสติก ในปริมาณ 150,807 ตัน และในระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติก ในปริมาณ 44,307 ตัน ซึ่งเป็นช่วงการปรับตัวเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากเกินไป และจะทยอยปรับลดการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อนำไปสู่ “การห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 100% ภายในระยะเวลา 5 ปี”
พร้อมกันนี้ ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อรองรับกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมได้มากยิ่งขึ้น
"นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เน้นย้ำชัดเจนว่า ทส. มีนโยบายส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกในประเทศให้มากที่สุด โดยจะมีการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ 100 % ภายในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า และรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายให้นำเข้าขยะพลาสติก หากมีการนำเข้าแสดงว่าเป็นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย"
ทั้งนี้ ได้มอบหมายกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งผลักดันตู้สินค้านั้นกลับประเทศต้นทางโดยทันที
อธิบดี คพ.ย้ำว่า “ประเทศไทยได้ห้ามนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จำนวน 428 รายการ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นมา หากมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยจะมีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้ ทส. กำลังเร่งผลักดันการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์”