“คดีแรกที่กรมควบคุมมลพิษรวบรวมผลกระทบให้” ชาวหนองพะวา บ้านค่าย จ.ระยอง ยื่นฟ้องโรงงานวินโพรเสส ให้ชดเชยค่าเสียหายกว่า 47 ล้านบาท กรณีประกอบกิจการรีไซเคิลโดยไม่ได้รับอนุญาต ครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมาก และปล่อยน้ำเสียกระทบที่ดินทำกินของชาวบ้าน
รายงานพิเศษ
การต่อสู้ของชาวบ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรงงานวินโพรเสส ซึ่งนำวัตถุอันตรายจำนวนมากมาเก็บไว้ต่อเนื่องนับสิบปี เดินทางมาถึงการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับโรงงาน พร้อมเตรียมยื่นฟ้องคดีทางปกครอง และเตรียมยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในฐานทุจริตต่อหน้าที่ต่อไป
ชาวหนองพะวา 15 คน นำโดยนายเทียบ สมานมิตร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบพืชผลทางการเกษตรเสียหายจากการครอบครองวัตถุอันตรายของโรงงานวิน โพรเสส เดินทางไปที่ศาลจังหวัดระยอง ในเวลา 10.00 น. พร้อมทนายความและมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ลงพื้นที่ทำข้อมูลและประสานงานให้ความช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด
ยื่นฟ้องบริษัท วินโพรเสส จำกัด จำเลยที่ 1, นางสาววิชชุดา ไกรพงษ์ จำเลยที่ 2 และนายโอภาส บุญจันทร์ จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานละเมิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
โดยเรียกร้องค่าเสียหายรวมกันเป็นเงินกว่า 47 ล้านบาท พร้อมขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในที่ดินของโจทก์และทางน้ำสาธารณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
นายชำนัญ ศิริรักษ์ นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะทนายความฝ่ายชาวบ้าน เปิดเผยว่า หลังจากที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ลงพื้นที่ติดตามปัญหาเก็บข้อมูล จึงได้ประสานทนายความให้เข้ามาดำเนินการทางกฎหมายกับโรงงานวินโพรเสส เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นการแก้ปัญหาที่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
แม้ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบหนักขึ้นเรื่อยๆ มาตลอด 10 ปี จนพืชผลและที่ดินสำหรับทำการเกษตรปนเปื้อนวัตถุอันตรายเสียหายไปเกือบหมดแล้ว ทางทีมทนายความและมูลนิธิฯ จึงตัดสินใจช่วยเหลือชาวหนองพะวา ด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรงงานในวันนี้
โดยในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลความเสียหายของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ทนายความย้ำว่า ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก “กรมควบคุมมลพิษ” ที่เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
“ผมคิดว่า นี่อาจเป็นคดีแรกเลย ที่เป็นคดีชาวบ้านยื่นฟ้องโรงงานอุตสาหกรรม และมีทีมงานจากกรมควบคุมมลพิษเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลแบบนี้ โดยทางกรมควบคุมมลพิษ มีบทบาทสำคัญในการเก็บตัวอย่างการปนเปื้อนในที่ดินของชาวบ้าน ทำเอกสารรายงานส่งให้ทีมทนายความ พร้อมให้ความเห็นทางวิชาการว่าการปนเปื้อนอยู่ในระดับใด ช่วยประเมินค่าเสียหายที่ต้องเรียกร้องในการฟิ้นฟู พร้อมเชื่อมโยงมลพิษที่เกิดขึ้นกับวัตถุอันตรายที่เก็บไว้โรงงาน ทั้งชนิดของสารเคมี เส้นทางการปนเปื้อน จนมีข้อมูลที่ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า โรงงานเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการฟ้องคดี” นายชำนัญ กล่าว
ทนายความของชาวบ้านหนองพะวา ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการยื่นฟ้องทางแพ่งต่อโรงงานวิน โพรเสส ครั้งนี้ ทางฝ่ายชาวบ้านจำเป็นจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้เป็นการ “ไต่สวนทางอนาถา” เพื่อขอให้ศาลช่วย “ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล” ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 8-9 แสนบาท จากค่าเสียหายที่ร้องเรียน 47 ล้านบาท
เพราะฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นชาวบ้าน ได้รับผลกระทบอย่างหนักที่ดินทำกินปนเปื้อนสารเคมีอยู่แล้ว ขาดรายได้ ไม่สามารถเพาะปลูกได้ หากจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องเป็นเงินจำนวนมากอีก ก็อาจทำให้ชาวบ้านบางส่วน ไม่มีกำลังทรัพย์ และตัดสินใจ “ไม่ฟ้อง” แทน
หลังขั้นตอนการฟ้องคดีแพ่ง นายชำนัญ เปิดเผยว่า จะดำเนินการฟ้องทางปกครองในขั้นตอนต่อไป เพื่อขอให้ศาลปกครองคุ้มครองพื้นที่เป็นการชั่วคราว พร้อมจะขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบังคับต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ จังหวัด และท้องถิ่น ให้ร่วมฟื้นฟูพื้นที่ให้ชาวบ้านก่อน
และจะยื่นฟ้องเพิ่มเติมต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปล่อยปละละเลย ไม่กำกับดูแลให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายมาอย่างยาวนาน จนเกิดผลเสียหายร้ายแรง โดยกำลังพิจารณาว่าจะยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐส่วนไหนบ้าง
โรงงานวิน โพรเสส มาตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองพะวา ตั้งแต่ปี 2554 โดยทีแรกได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานคัดแยกขยะ ประเภท 105 แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตให้ เพราะถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน
และในปี 2556 แม้โรงงานจะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทใดเลย แต่ก็ถูกร้องเรียนว่า มีกลิ่นขยะเหม็นจากโรงงานออกไปในชุมชน และขุดพบว่ามีการลักลอบฝังกลบขยะในที่ดินของโรงงาน ซึ่งมีการลงโทษเพียงออกคำสั่งให้ปรับปรุง
แต่ในเดือนมีนาคม 2560 โรงงานแห่งนี้ กลับได้ใบอนุญาต 2 ใบ คือ ลำดับที่ 40 ประกอบกิจการ อัดเศษกระดาษ เศษโลหะ พลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป และลำดับที่ 60 ประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ
โดยในระหว่างนั้นยังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 ด้วย แต่ใบอนุญาตใบนี้ พบว่ายังเป็นเพียงใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ยังไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล ไม่มีเครื่องจักรสำหรับการรีไซเคิล จึงถือว่าไม่สามารถประกอบกิจการรีไซเคิลได้
จากนั้นชาวบ้านเริ่มพบว่า มีรถบรรทุกขนย้ายวัตถุอันตรายเข้ามาจัดเก็บไว้ในโรงงานอย่างต่อเนื่องมีทั้งถังสารเคมีขนาด 200 ลิตร และ 1000 ลิตร เป็นจำนวนมาก มีวัสดุคล้ายกากตะกอนน้ำมันที่รีไซเคิลไม่ได้แล้วกองอยู่เต็มพื้นที่ในโรงงาน น้ำเริ่มมีสีและส่งกลิ่นเหม็น จนส่งผลต่อเนื่องออกมายังที่ดินทำการเกษตรของชาวบ้าน
โดยเฉพาะ นายเทียบ สมานมิตร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด พบว่าสวนยางพารากว่า 30 ไร่ ยืนต้นตายทั้งหมด ถูกตีเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 8 ล้านบาท
เมื่อชาวบ้าน มูลนิธิบูรณะนิเวศ และสื่อมวลชน ช่วยกันตรวจสอบก็พบว่า โรงงานไม่ได้ประกอบกิจการบดอัดกระดาษหรือหล่อหลอมโลหะตามใบอนุญาตเลย ไม่มีเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการด้วย แต่กลายเป็นที่นำวัตถุอันตรายจากที่อื่นมากองทิ้ง คล้ายกับจะลดต้นทุนค่ากำจัดวัตถุอันตรายเหล่านี้
และเมื่อชาวบ้านร้องเรียนไป เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดระยองมาตรวจสอบหลายครั้ง ก็ทำเพียงสั่งให้ปิดชั่วคราวเพื่อปรับปรุงกิจการ แม้จะมีคำสั่งให้นำวัตถุอันตรายออกไปกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ไม่มีการลงโทษ
เมื่อโรงงานไม่ปฏิบัติตาม ไม่มีการดำเนินคดี ทั้งที่พบเห็นการครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมากหลายครั้งโดยไม่มีใบอนุญาต และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าโรงงานไม่มีเครื่องจักรใดๆ ให้ปรับปรุง
จนกระทั่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านและภาพการครอบครองวัตถุอันตรายในโรงงาน ถูกเปิดเผยเป็นข่าวในสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องช่วงกลางปี 2563 ทางกรมโรงงานอุตสากรรมจึงเพิ่งดำเนินคดีในข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย ถูกลงโทษปรับรวมเพียง 4 แสนบาท
ส่วนเจ้าของโรงงานประกาศปิดกิจการไปเอง ก่อนที่มีคำสั่งให้ปิดจากกรมโรงงานฯ และยังมีวัตถุอันตรายจำนวนมากอยู่ในโรงงานและแหล่งน้ำของโรงงาน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 มีฝนตกหนักในพื้นที่ จนคันดินของโรงงานพังเสียหาย ทำให้น้ำเสียปริมาณมากไหลออกมา