xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 1) / ดร.กฤษฎา เสกตระกูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 1) : ภาคธุรกิจถือเป็นตัวการหนี่งในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องจากผู้เกี่ยวข้องร้องขอให้ธุรกิจตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน บทความชุดนี้ได้สืบหาองค์ความรู้และนำมาเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก โดยตอนที่ 1 นี้ มาทำความเข้าใจกับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนและผลกระทบ ตลอดจนข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

ขณะที่สังคมมีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัญหาความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมก็มีมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาจากการกระทำของมนุษย์และย้อนกลับมาเป็นวัฏจักรที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติเอง

ภาคธุรกิจเป็นตัวการหนึ่งในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อนนอกเหนือจากภาคครัวเรือน เนื่องจากกระบวนการทำธุรกิจตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การใช้พลังงาน การแปรรูป การขนส่งสินค้า ล้วนต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ ไฟฟ้า พลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากผู้เกี่ยวข้องดังขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่หน่วยงานระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติ ภาครัฐ ภาคสังคม และนักลงทุนที่ร้องขอให้ธุรกิจตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทความชุดนี้ได้สืบหาองค์ความรู้และนำมาเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก

1. รู้จักก๊าซเรือนกระจก
จากข้อมูลของ Wikipedia อธิบายว่า ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) หรือเรียกย่อๆ ว่า GHG คือก๊าซในบรรยากาศของโลกที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดร้อนออกมา โดยบางส่วนจะออกสู่ห้วงอวกาศ แต่บางส่วนก็จะสะท้อนความร้อนจากชั้นบรรยากาศกลับสู่พื้นผิวโลก เรียกว่า ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect)

ก๊าซเรือนกระจกเกิดตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ประกอบด้วย ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาระดับอุณหภูมิโลก หากปราศจากก๊าซเรือนกระจกโลกจะหนาวเย็นจนสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปจะทำให้อุณหภูมิบนโลกสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิต ลักษณะเดียวกับชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์

2. ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์
ข้อมูลจาก Wikipedia ยังเปิดเผยอีกด้วยว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2300 (ค.ศ. 1757) กิจกรรมของมนุษย์ได้เพิ่มปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เช่น จากการกร่อนสลายของหินบนแผ่นดิน การสังเคราะห์แสงของพืช และแพลงก์ตอนในทะเล ยังถือว่ากักเก็บปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างสมดุล จากการคาดการณ์พบว่าชั้นบรรยากาศของโลกสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์คงที่อยู่ระหว่าง 260-280 ส่วนในล้านส่วน เป็นเวลาต่อเนื่องประมาณ 10,000 ปี ตั้งแต่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งจนถึงการเริ่มยุคอุตสาหกรรม

แหล่งเกิดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์

๐ การเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ และการทำลายป่า ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่บรรยากาศมากขึ้น การทำลายป่า (โดยเฉพาะในเขตร้อน) มีส่วนปลดปล่อย CO2 มากถึง 1 ใน 3 ของ CO2 ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด

๐ การย่อยสลายในกระเพาะลำไส้ของปศุสัตว์และการจัดการเกี่ยวกับมูลปศุสัตว์ การทำนาข้าว การใช้ที่ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ การสูญเสียก๊าซและน้ำมันจากท่อส่ง รวมถึงการปล่อยก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะ ทำให้เพิ่มปริมาณมีเทนมากขึ้นในบรรยากาศ เป็นต้น

๐ การใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งการใช้ก๊าซฮาลอน (Halon) ในระบบถังดับเพลิง และกระบวนการผลิตของผู้ผลิต

๐ กิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งรวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่เป็นตัวเพิ่ม ก๊าซไนตรัสออกไซด์

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) หรือ EPA ของสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการบริโภค (End-user sectors) ตามลำดับดังนี้ คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคครัวเรือน ภาคพาณิชยกรรม และภาคเกษตรกรรม โดยแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกในภาคการบริโภคส่วนมากเกิดจากการทำความร้อนหรือความเย็นภายในกระบวนการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับขนส่ง

3. ภาวะโลกร้อน และผลกระทบ
Wikipedia ระบุคำจำกัดความของ ภาวะโลกร้อน (Global warming) หมายถึง การเพิ่มระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิวโลกและผิวน้ำบนมหาสมุทร ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความเข้มของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของมนุษย์

การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่น การถดถอยของธารน้ำแข็ง การละลายของน้ำแข็งในทะเลแถบอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือ ระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศแบบสุดโต่ง ส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ความไม่แน่นอนของผลิตผลทางเกษตร การเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำ การลดปริมาณลำธารในฤดูร้อน รวมถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด และการเพิ่มของพาหะนำโรค

4. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
ข้อมูลจาก guru.sanook.com สรุปว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. กล่าวถึงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมถึงภาคครัวเรือนในฐานะผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ อบก. จึงได้กำหนดมาตรฐานฉลาก และ/หรือ เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ติดบนผลิตภัณฑ์เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย โดย ข้อมูลจาก businessconnectionknowledge.blogspot.com ได้สรุปว่าข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่แสดงบนฉลากคาร์บอน (Carbon Labeling) จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าใด อีกทั้งสามารถช่วยวัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ถูกแนะนำขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรช่วงเดือนมีนาคม 2550 ภายใต้การกำกับดูแลของ Carbon Trust

การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะต้องทำการพิจารณาจากกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ

๐ การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Primary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต เช่น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต และการขนส่งทั้งโดยรถบรรทุก ทางเรือ และทางอากาศ

๐ การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อม (Secondary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ ตลอดจนการจัดการซากสินค้าหลังการใช้งาน

5. ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label)
ข้อมูลจาก businessconnectionknowledge.blogspot.com อธิบายว่า การแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ มีลักษณะคล้ายกับป้ายบอกจำนวนแคลอรี่และสารอาหาร ในสหรัฐอเมริกาแบ่งรูปแบบของฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

๐ ฉลาก Low-Carbon Seal เป็นฉลากประเภทที่ไม่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติด ดังนั้นผู้บริโภคจะไม่ทราบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในภาคการผลิตสินค้า

๐ ฉลาก Carbon Score เป็นฉลากประเภทที่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้บริโภคจะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการผลิตสินค้า ระหว่างสินค้าแต่ละชนิด หรือชนิดเดียวกัน เพื่อเปิดให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

๐ ฉลาก Carbon Rating มีลักษณะคล้ายกับฉลากประหยัดพลังงาน (ซึ่งนิยมใช้รูปแบบนี้ในสหภาพยุโรป) โดยฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะแบ่งกลุ่ม โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาวจาก 1 ถึง 5 ดาว หากสินค้าใดได้ดาวจำนวนมาก หมายถึง สินค้าชนิดนั้นๆ มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสินค้าที่ได้ดาวน้อยดวง

สำหรับประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกันกำหนดมาตรฐานฉลากคาร์บอน โดยกำหนดเป็น 5 สี 5 เบอร์ ได้แก่

๐ ฉลากคาร์บอน เบอร์ 1 ฉลากสีแดง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 10%

๐ ฉลากคาร์บอน เบอร์ 2 ฉลากสีส้ม แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 20%

๐ ฉลากคาร์บอน เบอร์ 3 ฉลากสีเหลือง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 30%

๐ ฉลากคาร์บอน เบอร์ 4 ฉลากสีน้ำเงิน แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 40%

๐ ฉลากคาร์บอน เบอร์ 5 ฉลากสีเขียว แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 50%

นับวันพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นข้อมูลฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จึงเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจซื้อและใช้พิจารณาข้อมูลว่าผู้ผลิตรายนั้นๆ ได้ใส่ใจต่อการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ช่วยสร้างความโดดเด่นให้แก่แบรนด์สินค้าของตนให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย อีกทั้งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของภาคการผลิตด้วย

เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น