xs
xsm
sm
md
lg

โควิดเขย่าวิธีคิดซื้อของ-ลงทุน เลือกที่มีจริยธรรม-ยั่งยืน / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ”วิกฤติ” จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิค เช่นเดียวกับสังคมโลกนั้น ก็นับเป็น ”โอกาส”ได้บทเรียนสำคัญว่า การดำเนินชีวิตและการทำกิจการงาน ในโลกวิถีใหม่ ต้องมีสติและคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะมีต่อผู้เกี่ยวข้องหรือสังคมด้วย

เพราะโลกยุคดิจิทัลได้สร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดนวัตกรรมและวิธีการผลิตสินค้า-บริการ จนส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอยู่แล้ว เมื่อเจอสถานการณ์โควิตเป็นตัวเร่ง ให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งพฤติกรรมการสั่งซื้อด้วยระบบออนไลน์ สังคมก็ยิ่งไม่เหมือนเดิม

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด ได้เผยแพร่ "รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์ทั่วโลกประจำปี 20 21” ได้ให้ข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่สะท้อนวิธีคิด รูปแบบการใช้เงิน รวมทั้งการลงทุนของผู้บริโภคกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง ( High-Net-Worth-Individual) จาก 25 เมืองสำคัญของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีผลกระทบต่อธุรกิจและการบริโภค โดยรวมแล้วราคาสินค้าที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้มั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้น1.05 % และทวีปเอเชียมีมูลค่าการบริโภคพรุ่งนี้แพงที่สุดในโลก

มีประเด็นสำคัญจากรายงานฉบับนี้ ที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่

1. การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการซื้ออย่างมีจริยธรรม คำนึงถึงผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. การซื้อสินค้า สนใจเลือกกระบวนการผลิตที่มีจริยธรรมและมุ่งสู่ความยั่งยืน

3.คาดว่าแนวคิดนี้ ยังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต และจะผลักดันหรือสนับสนุนแนวการบริโภคอย่างมีสติมากขึ้น ทั้งการบริโภคอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ ในวิถีชีวิต ก รวมถึงการซื้อสินค้าในตลาดระดับหรูหรา

4. ผู้บริโภคระดับมีเงิน ที่อยู่ในเมืองซึ่งค่าครองชีพสูงของทวีปต่างๆ ก็สนใจทางเลือกที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

5. แนวโน้มกระแสการบริโภคเช่นนี้ อาจส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิต และผู้ค้ามีการปรับปรุงการตั้งราคาสินค้าและบริการที่มีความยุติธรรมมากขึ้น

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด ได้สนทนากับผมเกี่ยวกับแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มที่มีความมั่งคั่งระดับสูง หรือกลุ่มHNWI ซึ่งจูเลียส แบร์ เห็นว่ากลุ่มลูกค้าต้องการบริหารสินทรัพย์ ให้มั่นคงเพื่อส่งต่อสู่รุ่นลูกหลาน

ขณะเดียวกันในยุคปัจจุบันก็มีแนวคิดที่คำนึงถึงผลดีต่อความมั่งคั่งของทรัพยากรโลกด้วย เรียกว่ามีการมองผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว นับเป็นแนวโน้มของกระแสโลก

อย่างเช่นการลงทุนที่สร้างผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม( Impact Investment) ซึ่งบล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มีข้อแนะนำการลงทุนที่คำนึงถึงผลลัพธ์ความยั่งยืน ที่ได้ทั้งผลคุ้มค่าในการลงทุน พร้อมกับการส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมและชุมชน

ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ พฤติกรรมการใช้จ่ายชื่อสินค้าและบริการ รวมทั้งการใช้เงินลงทุน คนก็รู้ว่าต้องปรับแนวการบริหารความมั่นคง ให้ทันต่อแนวโน้มการเปลี่ยนใหม่ที่สำคัญ หรือ New Mega Trend แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิค ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง ในแนวทางนี้

จะเห็นได้จากท่าทีของผู้นำประเทศของเศรษฐกิจระดับโลก อย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ก็มีนโยบายจริงจังกับการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาด

ขณะที่แนวโน้มนักลงทุนก็จะไม่ร้อนรน รีบเร่ง หรือหวัง รวยเร็ว แต่จะมีสติและคำนึงถึงการลงทุนที่มีเหตุผล โดยเฉพาะในมิติ ESGs ที่คำนึงถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (E) มีความรับผิดชอบต่อสังคม(S) และทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล(G) 

Lifestyle ของคนยุคนี้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็เริ่มมีค่านิยมไม่ติดยึดกับแบรนด์ดัง แต่คำนึงถึงคุณค่าและคุณภาพฝีมือ ยินดีสนับสนุนผู้ผลิตท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมี

ในยุคดิจิทัลซึ่งคนได้รับรู้ข่าวสารข้อมูล อย่างสะดวก รวดเร็ว ทำให้เกิดแนวคิดที่ต้องการคบค้ากับกิจการที่มีจริยธรรม มีหลักธรรมาภิบาล คือซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นธรรม ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย และไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน
เมื่อแนวคิดและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะมั่งคั่งสูง เริ่มมีวิธีคิดการใช้จ่ายและการลงทุน ที่สนับสนุนความยั่งยืน มีความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและสังคม

ในฐานะผู้บริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้า ก็ต้องมองไปข้างหน้า เลือกธุรกิจที่ปรับตัวได้ดี มีประสิทธิภาพหรือได้ผลดีจากแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคและนักลงทุน ที่สนใจผลลัพธ์ความยั่งยืน การวิเคราะห์และวางแผนเพื่อให้มั่นคงทางการลงทุนยุคนี้จึงไม่ใช่การดูแค่ปัจจัยเสี่ยงทางการเงิน เช่นอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ยังคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง ด้านอื่นๆ รวมทั้งด้าน ESGs ด้วย

ข้อคิด….

ผลสำรวจของบริษัท จูเลียส แบร์ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจากสวิสเซอร์แลนด์ ครั้งนี้ ช่วยตอกย้ำว่า แนวคิดการบริโภคและการลงทุน ที่ส่งเสริมความยั่งยืนนั้น เป็นกระแสหนักแน่นขึ้น ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ

สอดคล้องกับที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ผู้นำ 193 ประเทศยืนยันร่วมมือกันผลักดันแก้ปัญหาสำคัญ 17 เรื่อง เพื่อให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น ภายในปี 2030

ในเมืองไทยเราได้เห็น สถาบัน องค์กร ภาครัฐและภาคธุรกิจ พากันส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าว เช่น เป้าหมายที่ 8 “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” เป็นแนวโน้มที่ดีของ ระบบทุนนิยมที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ( Stakeholder Capitalism)

แต่ท่าทีของผู้บริโภคและนักลงทุน จากรายงานฉบับนี้ มีแนวโน้มให้ความสนใจสนับสนุนซื้อสินค้าและลงทุนกับกิจการที่มีจริยธรรม และมีผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ก็จะเป็นพลังผลักด้นด้านผู้บริโภค (Demand-side) ซึ่งอาจมีผลต่อการปรับนโยบายหรือกระบวนการทางธุรกิจ ที่ต้องตื่นตัวและปรับให้ทันกับกระแสสังคมยุคใหม่

ขณะเดียวกัน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ย่อมมีการปรับมุมมองและกลยุทธ์ให้ทันต่อวิธีคิดและพฤติกรรมของนักลงทุนอยู่แล้ว

นี่ก็เป็นทิศทางการปรับตัวที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 12 “ มีแบบแผนการผลิตและการบริโภค อย่างมีความรับผิดชอบ”

สัญญาณที่ดีเหล่านี้ แสดงว่าอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หลังสถานการณ์โควิค ก็นับเป็น Next Normal แบบหนึ่ง ในบริบทที่คำนึงถึงสังคมและโลกของเราใบนี้นะครับ



suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น