หลังการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด-19 อยู่กับพวกเรามานานหนึ่งปี ผลวิจัยล่าสุดจาก WWF หรือ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล พบว่า ประชาชนในเอเชียตื่นตัว และกังวลโรคระบาดจากการบริโภคสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวไทยกว่า 84% ร่วมสนับสนุนการยุติการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และขอให้ภาครัฐเร่งปิดตลาดค้าสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดซ้ำในอนาคต
WWF ร่วมกับบริษัทวิจัยระดับโลก Globe Scan จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนทางออนไลน์เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและการเกิดโรคระบาดอีกครั้ง ภายใต้งานวิจัยหัวข้อ “โควิด-19: หนึ่งปีให้หลัง: การรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโรคระบาดและความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ” (COVID-19: One Year Later: Public Perceptions about Pandemics and their Links to Nature) ประจำปี พ.ศ.2564
การสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6,631 รายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา พบว่า :
เกือบ 30% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจาก 5 ประเทศ ตัดสินใจลดและเลิกบริโภคสัตว์ป่า เนื่องจากมีความกังวลต่อวิกฤตสุขภาพ
กว่า 4 ใน 5 ของผู้ทำแบบสำรวจจาก 5 ประเทศ สนับสนุนให้รัฐบาลประเทศตนปิดตลาดค้าสัตว์ป่าทั้งหมดที่มีความเสี่ยงสูง (85%) และหยุดขบวนการการลักลอบตัดไม้ (88%) โดยเชื่อว่า ทั้งสองกิจกรรมเป็นต้นตอการเกิดโรคระบาด
.
79% ของผู้ทำแบบสำรวจในประเทศไทย เผยว่า รู้สึกกังวลต่อการเกิดโรคระบาดครั้งใหม่เป็นอย่างมาก หากภาครัฐยังไม่บังคับใช้มาตรการเด็ดขาดในการหยุดยั้งตลาดค้าสัตว์ป่า หรือการตัดไม้ทำลายป่า
46% ของผู้ทำแบบสำรวจทั้งหมดเชื่อว่า โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้เกิดโรคระบาดได้อีกครั้งในอนาคต
อย่างไรก็ตาม 9% ของผู้ตอบแบบสอบถามในทั้ง 5 ประเทศยอมรับว่า มีความตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าอีกในอนาคต โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยยอมรับว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ได้ซื้อสัตว์ป่าจากตลาดค้าสัตว์ป่าที่มีการค้าอย่างเปิดเผย 11% และผ่านช่องทางออนไลน์ 8% โดยสัตว์ป่าที่ได้รับความนิยมสูงสุดใน 5 ประเทศ ได้แก่ นก งู เต่า ค้างคาว ชะมด และตัวนิ่ม ในขณะ 12% ระบุว่า ได้ซื้อสัตว์แปลก (Exotic pet) ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสัตว์แปลกที่ได้รับความนิยมสูงสุดใน 5 ประเทศ ได้แก่ นกแก้ว งู เต่า กิ้งก่า แมว และนกร้องเพลง
ถึงแม้ข้อมูลในปีนี้จะแสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีความเข้าใจดีขึ้นว่า การเกิดโรคระบาดมีความเชื่อมโยงกับความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า การทำลายพื้นที่ป่า รวมถึงตลาดที่มีการขายสัตว์ป่า
นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF-ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ซึ่งถือเป็นปัจจัยคุกคามต่อสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ และ WWF จะยังคงทำงานร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการหาแนวทางป้องปรามขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่เป็นอาจเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์ไปสู่คนอีกในอนาคต
เมื่อปี 2020 WWF เปิดตัวแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขต้นตอของการระบาดเพื่อเพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายกับการค้าสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงและใช้แนวทาง "One Health" เพื่อจัดการกับการค้าสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงสูงและการตัดไม้ทำลายป่า . แนวทางนี้ช่วยให้มีมุมมองแบบองค์รวมในการตัดสินใจและการกระทำที่เชื่อมโยงสุขภาพของคนกับสัตว์และสภาพแวดล้อมร่วมกันของเราโดยตระหนักถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันในหมู่พวกเราทุกคน
กว่าศตวรรษที่ WWF ร่วมกับรัฐบาลในแต่ละประเทศ และเครือข่ายอนุรักษ์ทั่วโลก มุ่งมั่นขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย เพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
ข้อมูลอ้างอิง
WWFThailand
https://www.worldwildlife.org/stories/one-health-and-covid-19-one-year-later