ผลสำรวจจาก WWF พบความต้องการซื้องาช้างในประเทศจีนลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ประเทศจีนประกาศปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ สวนทางกับเมืองไทยยังคงยืนหนึ่งเป็นตลาดงาช้างยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน
.
WWF ร่วมกับบริษัทวิจัยระดับโลก GlobeScan จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคชาวจีน ในประเด็นการซื้อขายงาช้างในชื่อ “ความต้องการบริโภคงาช้างหลังการปิดตลาดงาช้างในประเทศจีน ประจำปี พ.ศ. 2563” หรือ “Demand Under the Ban – China Ivory Consumption Research 2020” โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 คน ใน 15 เมือง ซึ่งเป็นการสำรวจที่จัดทำขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่ประเทศจีนประกาศปิดตลาดงาช้าง
.
ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า เกือบ 3 ใน 4 หรือ 73% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า การนำงาช้างเข้าประเทศจีนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยความตั้งใจของผู้บริโภคที่จะซื้องาช้างในอนาคตหลังทราบข่าวการปิดตลาดค้าขายงาช้างในจีนอยู่ที่ร้อยละ 8 ลดลงจากร้อยละ 19 ก่อนประเทศจีนประกาศปิดตลาดงาช้างอย่างเป็นทางการ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การสำรวจในปีแรก โดยมีการซื้อให้เป็น 'ของขวัญ' เป็นเหตุผลยอดนิยมของการซื้อผลิตภัณฑ์งาช้าง
.
ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มนักซื้อตัวจริง (Die-hard buyer) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ร้อยละ 8 ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งก่อนประเทศจีนประกาศปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศ โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศมากกว่า 1 ครั้งต่อปี (ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19) ยังคงเป็นกลุ่มเดียวที่มีอัตราการซื้องาช้างเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับอัตราการซื้อในปี พ.ศ. 2560 และยังคงมีความตั้งใจที่จะซื้องาช้างในอนาคตอยู่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างของกลุ่มสำรวจอื่นๆ ที่กลับลดลงต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
.
ผลการวิจัยในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดซื้องาช้างยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีการเดินทางเป็นประจำ และมีการซื้องาช้างระหว่างการเดินทาง
นายเจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ให้ความคิดเห็นว่า "WWF ยังมีความจำเป็นต้องทำงานต่อไปเพื่อหยุดยั้งการซื้องาช้างของนักท่องเที่ยวชาวจีน แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเดินทางระหว่างประเทศ แต่เรายังคงมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่า ชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการซื้องาช้างมีการเปลี่ยนแปลง และตลาดการซื้อขายงาช้างที่ขับเคลื่อนโดยนักท่องเที่ยวต้องยุติลง"
.
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 WWF ได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ #TravelIvoryFree โดยร่วมมือกับพันธมิตรในภาคธุรกิจการเดินทางและการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการซื้องาช้างของนักท่องเที่ยว ในปัจจุบัน WWF ขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรต่างๆ ในภาคธุรกิจการเดินทางและการท่องเที่ยวเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อต้านการค้าสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สายการบินไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ขับเคลื่อนโดยนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหัวใจสำคัญ
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่ : https://rb.gy/azizlx