บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านความปลอดภัย ที่มีวัฒนธรรมและพันธสัญญาในการมุ่งสร้างสังคมปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จัดโครงการส่งเสริมความปลอดภัยครอบคลุมทุกภาคส่วนตั้งแต่การให้ความรู้แก่เยาวชน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะการขับรถอย่างปลอดภัยเพื่อส่งเสริมอาชีพ เริ่มต้นปีนี้ ด้วยการสานต่อ Shell School Road Safety หรือปลอดภัยทุกย่างก้าวจากบ้านถึงโรงเรียน
เป็นการกระตุ้นความตระหนักรู้ของเยาวชนต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยอย่างถูกต้อง เพื่อการเดินทางสัญจรที่ปลอดภัย โดยร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบกิจกรรมอบรมให้ความรู้ โดยใช้สื่อดิจิทัลบูรณาการเพื่อกระจายการเข้าถึงเยาวชนกลุ่มใหม่ๆ เน้นรูปแบบและเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง ปลูกฝังแนวคิดพร้อมสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยทางท้องถนนให้แก่เยาวชน เพื่อลดโอกาสและผลกระทบในการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางบนท้องถนน
นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เชลล์มีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เข้มแข็ง ซึ่งใช้เป็นหลักในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน เรียกได้ว่าอยู่ใน Hearts and Minds ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของความปลอดภัย เราสนับสนุนการส่งต่อวัฒนธรรมนี้สู่สังคมวงกว้าง ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลักคือ มูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบสื่อการสอนดิจิทัลและกิจกรรมให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยแก่เยาวชน ภายใต้หัวข้อ “8 ทักษะความปลอดภัยทางถนน” ผ่านการจัดอบรมที่โรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ รวมถึงการขยายฐานเยาวชนผู้เข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ Safety Hunter สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเชลล์ตั้งเป้าอบรมนักเรียนจำนวน 5,000 คนภายในปีนี้ เริ่มจากเขตพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล พื้นที่บางกระเจ้า โรงเรียนภายใต้โครงการเชลล์เติมสุข (Shell Fuel The Happiness) และโรงเรียนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เชลล์ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เราหวังว่าความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ พร้อมปลูกฝังวัฒนธรรมเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางให้กับเด็กๆ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้แก่สังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางสัญจรหนาแน่น”
รศ. นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานมูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการความร่วมมือครั้งนี้ กล่าวเสริม “การสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัยบนท้องถนนและการให้ความรู้ที่ถูกต้อง จะช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถป้องกันตนเองจากการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงลดผลกระทบจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ โครงการ School Road Safety ที่สถาบันฯ ได้ร่วมกับเชลล์ ออกแบบโปรแกรม Road Safety Challenge รวมถึงกิจกรรม 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนน จะมีการวัดระดับความรู้ก่อนอบรมและหลังอบรม เพื่อประเมินผลความรู้ความเข้าใจ นอกจากเกมที่เยาวชนทุกคนสามารถเล่นได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ในการจัดอบรมที่สถานศึกษายังมีฐานกิจกรรมให้นักเรียนได้ทดลองและฝึกฝนเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง อย่างเช่น การสวมหมวกกันน็อคที่ถูกต้อง การคาดเข็มขัดนิรภัยที่ถูกต้อง หรือการเดินข้ามถนนที่ถูกต้อง เป็นต้น และที่ศูนย์การเรียนรู้ Safety Hunter จะเป็นเสมือนห้องเรียนรู้สำหรับกิจกรรมด้านความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน เยาวชนทุกคนจะสามารถมาเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลองและเกมต่างๆ ได้ กระตุ้นให้เกิดการอยากเรียนรู้และจดจำ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน”
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) อุบัติเหตุบนท้องถนนคือวิกฤติที่ก่อให้เกิดการสูญเสียมากกว่าโรคร้าย และในปีที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กองป้องกันการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับปัญหาการตายจากท้องถนนของเด็กและเยาวชนไทย อายุระหว่าง 10 – 19 ปี ให้เป็น “วาระเร่งด่วน” เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สูญเสียมากที่สุด เชลล์ตระหนักถึงปัญหานี้ และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับเครือข่ายภาคี ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ในการกระจายองค์ความรู้เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน การเดินทางและการขับขี่ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความปลอดภัยอย่างแท้จริง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนของไทย พ.ศ. 2561 – 2564 (Thailand Road Safety Master Plan 2018 – 2021) ที่ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในระดับการป้องกันเบื้องต้น (Primary Prevention) ที่เป็นการเรียนรู้อย่างยั่งยืนมากกว่ามุ่งเน้นการฟื้นฟูแก้ไข ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมาย Goal Zero ในระดับโลกของเชลล์ ที่มุ่งสร้างความปลอดภัยในการดำเนินงานให้แก่ทุกภาคส่วนของธุรกิจ ครอบคลุมสามด้าน ได้แก่ ความปลอดภัยส่วนบุคคล ความปลอดภัยในการทำงาน และความปลอดภัยในการเดินทางสัญจร โดยขยายผลสู่ชุมชนและสังคมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ Shell School Road Safety ซึ่งนำร่องจัดอบรมที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ไปก่อนหน้านี้ และการดำเนินโครงการ We Power Road Safety Digital Creator ในปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา