สัตวแพทย์เผยผลการช่วยเหลือช้างป่าวัย 70 ปี พังยายเกตุ หลังลื่นล้ม อาการดีขึ้นแล้ว กินอาหารและก้าวเดินได้ ก่อนให้ยารักษา พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากเหตุการณ์ที่น่าตกใจนี้ ทำให้คนใจดีส่งอาหารผลไม้ต่างๆ เข้ามาให้ยายเกตุอย่างมากมาย (ชมคลิป)
หลังจากช้างป่าพังยายเกตุ (ช้างป่าชรา เพศเมีย อายุโดยประมาณ 70 ปี) ได้ลื่นล้ม เนื่องจากฝนตกหนัก และไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้เมื่อเช้าวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้ร่วมเข้ามาช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว จนยายเกตุปลอดภัย ไม่ว่าสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาช้างป่า อำเภอท่าตะเกียบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าอำเภอสนามชัยเขตและอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา
นางสาวมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เล่าถึงวันเกิดเหตุว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการช่วยเหลือช้างป่าพังยายเกตุโดยทำการฉีดวิตามินบำรุงปลายประสาท ร่างกาย และระบบกล้ามเนื้อ เจาะเก็บเลือด เพื่อส่งตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ และทำการล้างแผล ทำแผล บริเวณใต้ท้อง พบว่าแผลเปื่อยเป็นรู ไม่มีหนอง ไม่มีหนอนแมลงวัน จากนั้นทำการขุดตักดินเพื่อโกยดินหนุนให้ตัวช้างป่าพยุงตัวเองขึ้นมาได้ ช้างป่าพังยายเกตุ สามารถลุกขึ้นยืน และเดินได้ปกติแต่เดินอย่างช้าๆ
สัตวแพทย์เข้าสังเกตอาการช้างป่าพังยายเกตุ พบว่าช้างป่าสามารถกินอาหารได้ (กล้วย ข้าวโพด หญ้า อาหารเม็ดสำหรับช้าง) นำแบนเนอร์โปรตีนชนิดเม็ดใส่ในกล้วยให้กิน กินยารักษาการติดเชื้อใส่ในกล้วย เพื่อรักษาแผลเปิดใต้ท้อง ลักษณะการก้าวเดินยังช้ากว่าปกติ ค่อยๆ ย่างก้าวทีละขา อาการบวมน้ำใต้ท้อง (ventral edema) ลดลง ค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย = 3/5 (1 = ผอมมาก 2 = น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน 3 = น้ำหนักมาตรฐาน 4 = น้ำหนักเกินมาตรฐาน 5 = อ้วน) ทั้งนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และรายงานสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอต่อไป
สำหรับ ช้างป่าวัยชรา พังยายเกตุ คนอนุรักษ์ช้าง อนุรักษ์ป่า ให้สมยานามว่า นางงามมิตรภาพของคนกับช้างป่า เนื่องจากพังยายเกตุออกจากป่ามาขอความช่วยเหลือจากคนเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ยาก และทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า และชุมชน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือดูแลยายเกตุเป็นอย่างดี ทั้งให้พื้นที่อยู่อาศัยบริเวณชายป่าใกล้กับชุมชน และให้อาหารจนทุกวันนี้ และเหมือนว่าพังยายเกตุรู้ตัวเองดี หากต้องการจะอยู่รอดปลอดภัยก็ต้องพึ่งพาอาศัยคนดูแลในชีวิตบั้นปลาย
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช