xs
xsm
sm
md
lg

แนะกลยุทธ์กู้วิกฤตโควิด ปลดล็อกปมขัดแย้งลุกลาม / นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การระบาดรอบใหม่ของ Covid-19 ในขนาดที่รุนแรง ได้ทำให้สังคมกลับมาอยู่ในสภาวะวิกฤตไม่ใช่แต่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างรุนแรง ที่หากสังคมไทยไม่มีแนวทางร่วมกันที่ชัดเจน ก็ยากที่จะลดผลกระทบจากการระบาดรอบนี้

อาการทางสังคมที่สะท้อนสภาวการณ์ในขณะนี้ คือ
1) ความตื่นตระหนก ทั้งการตื่นข่าวลบการรับข่าว การส่งต่อและการใช้เวลาในแต่ละวันในการรับรู้และติดตาม ซึ่งแสดงถึงสภาวะสังคมที่ขาดความเข้าใจ ขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่างๆทางสังคมที่รับผิดชอบ และขาดความหวังที่จะฟันฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน

2) ความขัดแย้ง ความไม่พอใจหรือกระทั่งความเกลียดชังในปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะปัญหาวัคซีน ทั้งๆที่เป็นที่รู้กันทั้งในประเทศและทั่วโลกว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการแก้ไขวิกฤต แต่ในสังคมไทยกลับเต็มไปด้วยความสับสนในประเด็นต่างๆ เช่น
- การฉีดวัคซีน มีทั้งกลุ่มที่อยากฉีดก็ขัดใจที่ช้า กลุ่มที่ไปฉีดก็กลัวและจำนวนมากก็ไม่ไว้ใจที่จะไปรับวัคซีน
- การจัดหา ขัดแย้งทั้งเวลา ปริมาณ และชนิด ของวัคซีน
- การจัดการ เวลา สถานที่ รวมทั้งความจำเป็นในการลงทะเบียนหรือwalk in

ในโลกสื่อสังคมจึงเต็มไปด้วยความเห็นที่ขัดแย้ง ประชาชนไม่รู้จะเชื่อใคร และจะหาทางออกอย่างไร แต่ท่ามกลางสื่อแย่ๆก็มีดีๆปรากฏ อาทิ
- การมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน
- บทบาทของภาคชุมชน และประชาสังคม เช่นกรณีคลองเตยและหลายชุมชน รวมทั้งการช่วยเหลือกันและกันของภาคประชาชน
- ความมุ่งมั่นและร่วมมือของบุคลากรสาธารณสุข ทั้งจากกระทรวง มหาวิทยาลัยและเอกชน

ทางออกในการฝ่าวิกฤตที่ยากแบบนี้ คงต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว โดยใช้กระบวนทัศน์ ยุทธศาสตร์และวิธีการใหม่ๆ

1) เข้าใจสถานการณ์ ทั้งสถานการณ์การระบาดที่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่ายในการควบคุม ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ทางสังคม ที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้ง แบ่งขั้วแบ่งฝ่ายมานาน หากไม่ปรับตัวออกจากความขัดแย้งแบบนี้ก็ยากที่จะจัดการกับสถานการณ์ระบาดได้

2) สร้างวิสัยทัศน์ร่วม ในการฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ลดลาวาศอกหรือวางความขัดแย้งเดิมไว้ก่อน เพื่อร่วมกันหาทางออกจากวิกฤติ

3) ร่วมกันหาทางออก
- สร้างความร่วมมือและไว้วางใจ โดยเฉพาะระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งกับเห็นต่างด้วยการแสดงท่าทีชัดเจนในการเปิดรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและยอมรับการหาทางออกร่วมกัน ฝ่ายต่อต้านรัฐต้องมีความริเริ่มใหม่ๆ ที่จะหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ร่วมไปกับฝ่ายรัฐ และจะต้องมีฝ่ายกลางๆขึ้นมามีบทบาทในการเชื่อมประสาน
- ฝ่ายกลางๆต้องมีบทบาทมากขึ้น ควรมีการจัดองค์กรร่วมกันในการขับเคลื่อนสังคมไทยออกจากวิกฤติ เพราะสภาวะสังคมยากที่คู่ขัดแย้งจะปรับตัวเข้าหากันในการร่วมกอบกู้วิกฤตหากไม่มีฝ่ายกลางเข้ามาช่วย โดยรวมทั้งจากภาคเอกชน การแพทย์สาธารณสุข ภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนในการเสนอ ประสานและร่วมดำเนินการตามทางออกด้วย
- ดูแลคนทุกกลุ่มที่มีจุดยืนแตกต่างกันในกรณีการฉีดวัคซีน ผู้ที่อยากฉีดต้องได้รับโดยเข้าถึงง่าย คนที่ลังเลต้องได้รับข้อมูลและความเข้าใจ คนที่ปฏิเสธต้องได้รับการดูแลให้คำปรึกษา
- สร้างการจัดการใหม่ที่ตอบรับต่อสถานการณ์ใน 6 เดือนหน้าที่มีวัคซีนทั้งจำนวนและประเภทเพียงพอ แต่ต้องร่วมกันในการให้คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนโดยเร็ว เช่น เข้าถึงง่ายและกระจายการฉีดอย่างกว้างขวาง reskill บุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ นอกจากแพทย์/พยาบาล ในการฉีดวัคซีน เป็นต้น

ประสานภูมิปัญญาทุกอย่างในการแก้ปัญหาทั้งการป้องก้นและแก้ไขรวมทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน เช่น กระชายขาวและฟ้าทะลายโจรในการป้องกันและรักษา

เมื่อทำได้ในกรณีของการจัดวัคซีนแล้วก็ขยายไปสู่การหาทางออกอื่นๆในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองที่ยากกว่า แต่จะง่ายขึ้นเพราะร่วมกันฝ่าวิกฤติโควิดไปได้

บทเรียนจากสหรัฐอเมริกาที่แก้วิกฤติได้จากการที่ผู้นำใหม่ สร้างยุทธศาสตร์ใหม่ในการร่วมใจกันแก้ไขจน ฉีดวัคซีนให้คน200 ล้านคนก่อน100วัน หรือในอังกฤษที่ผู้นำเดิมปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จนสามารถควบคุมโรคได้ ล้วนต้องอาศัยจุดยืนที่ผู้นำหรือสังคมทำให้ผู้นำสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยไม่ติดกับความขัดแย้งเดิมที่มีอยู่ในสังคม


ประเทศไทยเราจะเริ่มเข้าสู่จุดนี้ได้หรือยัง

บทความโดย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข



กำลังโหลดความคิดเห็น