xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมศาสตร์สู้โควิค-19 โรงพยาบาลสนามช่วยอะไร/ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค- 19 ในเมืองไทยยังไม่นิ่ง ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มจำนวนทะลุสองพันรายตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมยังทรงๆ การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันก็ขยับบวกลบใกล้ตัวเลข 2,000 ราย

จึงเป็นที่วิตกของผู้ห่วงใยสวัสดิภาพของคนไทย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าและการใช้ชีวิต ต้องหาทางหยุดยั้งการแพร่เชื้อให้ได้ มีการกระตุ้นเตือนผู้คนทุกภาคส่วนให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และไม่สัมผัสใกล้ชิดคนอื่น ทุกคนจึงต้องรักษาสุขอนามัย เป็นกติกาสังคมวิถีใหม่ เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นผู้รับเชื้อและแพร่เชื้อต่อ

ขณะเดียวกัน การจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิค-19ให้ประชาชนส่วนใหญ่ ก็กำลังเริ่มเดินเครื่องเต็มที่ รวมทั้งการคัดกรองผู้ติดเชื้อและการรักษาได้ดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง

เพิ่มโรงพยาบาลสนาม

การจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” นับเป็นกลยุทธ์การระบายคนไข้ที่อาการดีขึ้นหรือไม่รุนแรง มาจัดการดูแลและเข้าระบบกักตัว แยกออกมาจากชุมชนเดิมชั่วคราว เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด มิให้เป็นคนแพร่เชื้อต่อ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเริ่มดำเนินการแนวนี้

ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ให้ข้อมูลที่น่าศึกษา เรียนรู้บทบาทของ “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ที่เปิดดำเนินการครั้งใหม่ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เพื่อรับมือกับศึกโควิดระลอก 3 ในปัจจุบัน

ขณะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทำหน้าที่โรงพยาบาลหลัก ในการให้บริการผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี อยุธยา และด้านเหนือของกทม. รวมทั้งหลายจังหวัดในภาคกลาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์โควิคขณะนี้ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ได้ช่วยรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิค ซึ่งส่งต่อจากโรงพยาบาลในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 และกลุ่มโรงเรียนแพทย์ ส่งเข้ามาดูแลรักษาด้วย

ทั้งนี้ รพ.ธรรมศาสตร์ฯมีศักยภาพรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิค โดยจัดหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) เพื่อดูแลผู้ป่วยอาการหนัก 20 เตียง และผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง 60 เตียง

เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรืออาการไม่รุนแรง ก็จะส่งต่อไปยังรพ.สนามธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารทันสมัยอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย ใช้เป็นสถานที่พักรักษาตัว พร้อมกับกักตัว 14 วันก่อนให้กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย


บทบาทรพ.สนามธรรมศาสตร์

1. รองรับผู้ป่วยโรคโควิด -19 เข้าดูแลรักษา จัดเป็นห้อง 2 เตียง ปรับอากาศ

2. รองรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก ที่ผ่านการรักษาจากโรงพยาบาลหลักมาแล้วไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง หรือผ่านการตรวจเชื้อจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วมีผลบวก

3.รับผู้ป่วยจากเครือข่ายรพ.มหาวิทยาลัย รพ.ของรัฐ รพ.เอกชนในกทม.และปริมณฑล โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจากผู้ป่วย นอกเหนือจากการเบิกจ่ายตามสิทธิ์บัตรทองหรือบัตรประกันสังคมที่มีอยู่

4.เป็นช่องทางนำผู้ป่วยโควิค-19 ที่อาการไม่หนักออกจากการครองเตียงในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในกทม. ให้มากที่สุด เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงว่างสำหรับรับผู้ป่วยได้ตามปกติ


การจัดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งมีถึง 470 เตียงครั้งนี้ จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหา “คอขวด” ของระบบโดยรวมช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้คล่องตัวขึ้น

5.แผนที่วางไว้ช่วงแรก คาดว่าจะมีผู้ป่วยเข้าโครงการวันละ 60 คน โดยมีทีมแพทย์ ที่ดูแลทั้งด้านร่างกายและสุขภาพจิต พยาบาล นักสุขภาพจิต นักสังคมสงเคราะห์ มีอุปกรณ์ตรวจติดตามอาการต่างๆ รวมทั้งการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ

ดูแลผู้ป่วยโควิดครบพันราย

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่รพ.สนามธรรมศาสตร์ ทำงานมาได้ 24 วัน และรับผู้ป่วยเข้ารักษาครบ 1,000 คนพอดี
ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ บอกว่าวันนี้ได้รับผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 25 คนจากโรงพยาบาล 7 แห่ง และมีผู้ป่วยที่หายดีได้กลับบ้าน 47 คน

“เมื่อนึกถึงบุคลากรและทรัพยากรที่มีจำกัด ความเหนื่อยยากและความทุ่มเทกาย ใจของพวกเราที่นี่มีภารกิจหลายด้าน เช่น 1 การจัดการระบบรับ-ส่ง ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยจนได้กลับบ้าน 2 ระบบป้องกันเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อ 3 การส่งกำลังบำรุง ทั้งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ ในโรงพยาบาลระดับ 400 เตียง ผู้ป่วย 1,000 คน เป็นภารกิจที่พวกเราภูมิใจในความอดทน เหนื่อยยาก ด้วยจิตใจของชาวธรรมศาสตร์ที่ทำเพื่อประโยชน์สังคม”


ข้อคิด….

นี่คือตัวอย่างของการทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งประชาคมธรรมศาสตร์และสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปลอดโรค ปลอดภัยจากสงครามโควิด-19ในครั้งนี้ ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ทำมาตั้งแต่การเกิดแพร่เชื้อไวรัสระลอกแรก แล้วได้บริหารผลงานจนเกิดผลดีเป็นที่ประจักษ์

เราจึงไดัเห็นน้ำใจไมตรีจากวงการต่างๆ และกลุ่มศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ที่ได้ส่งกำลังใจ ทั้งที่เป็นข้อความชื่นชมทางสื่อสังคมออนไลน์ มีการบริจาคเงินและสิ่งของ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ สนับสนุนการทำงาน รวมทั้งอาหารที่ต้องดูแลบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าสู้ศึกเชื้อโรคขณะนี้ และยังต้องดูแลผู้ป่วยนับพันคน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนืองบประมาณ จึงยังต้องการพลังสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคมต่อไป

suwatmgr@gmail.com




กำลังโหลดความคิดเห็น