วิถีชีวิต และประเพณีอันดีงามของชาวมอญที่ตั้งรกราก และอาศัยอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำ จนเป็นชุมชนบ้านเรือนบริเวณคลองบางปรอก สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีความเกี่ยวพันกับสายน้ำนั้นก็คือ ประเพณีรำพาข้าวสาร ที่เป็นการล่องเรือไปบอกบุญกฐินตามบ้านริมน้ำ พร้อมทั้งร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน
แต่พอความเจริญเข้ามามากขึ้นต่อเนื่อง ภาพความผูกพันกับสายน้ำแต่ดั้งเดิมลดน้อยลง ประกอบกับคลองบางปรอก เป็นเส้นทางน้ำสายสั้นๆ ยาวประมาณ 1.7 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่รับน้ำจากตัวเมืองปทุมธานี จึงเป็นแหล่งรวมเหล่าขยะจากทุกสารทิศ ก่อนไหลงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำให้รับขยะจากตัวเมืองเพิ่มเข้ามาเต็มๆ จนส่งผลให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า อีกทั้งคลองได้ถูกถมทับให้กลายเป็นถนน รวมกับประตูกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำดีแทนที่น้ำเสียได้ จึงเกิดปัญหาการน้ำในคลองเน่าเสียอย่างรวดเร็ว
แต่ไหนแต่ไร ขยะในคลองบางปรอกไม่ใช่ของแปลก ใครๆ ก็ทิ้งจนกลายเป็นความเคยชิน แต่เรื่องแปลกกว่านั้นมาอยู่ตรงที่ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาจัดการกับขยะ และพยายามสู้กับพฤติกรรมการทิ้งขยะของผู้คนในชุมชน
นี่คือความพยายามของสะใภ้มอญ "ฉลวย กะเหว่านาค" แม่ค้าขายอาหารในโรงเรียนอนุบาลเล็กๆ ในตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดทุมธานี ผู้ใช้เวลานานเกือบ 10 ปี เสียสละเวลาและรายได้ เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ในชุมชน
ณ วันนี้ ฉลวย กระเหว่านาค เป็นผู้นำชุมชนตำบลบางปรอก และประธานเครือข่าย ทสม. จังหวัดปทุมธานี ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขโดยทำการปรับสภาพน้ำด้วย “น้ำหมักชีวภาพ” ซึ่งต้องมีการคำนวณปริมาณน้ำในคลอง เพื่อหาว่าต้องใช้น้ำหมักชีวภาพในการบำบัดน้ำเสียมากน้อยเพียงใด จากนั้นก็จะบริหารจัดการในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำมาเทลงสู่คลองตามปริมาณที่เหมาะสม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความต่อเนื่องในการร่วมแรงร่วมใจกันของเครือข่าย ทสม. จังหวัดปทุมธานี และเครือข่ายชุมชนคลองบางปรอก จนกระทั่งทุกวันนี้คุณภาพน้ำในคลองเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด
.
นอกจากนี้ยังรุกคืบต่อด้วยการจัดทำถังดักไขมัน โดยทดลองออกแบบและแก้ไข จนได้ต้นแบบระบบถังดักไขมันที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกัน เพราะฉลวยมองว่า ปัญหาน้ำเสียอีกปัจจัยหนึ่งนั้น เกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำทิ้งจากครัวเรือนในชุมชน ดังนั้นทุกบ้านเรือนควรต้องติดตั้งถังดักไขมัน นอกจากนี้ยังขยายการติดตั้งถังดังกล่าวให้แก่ โรงเรียน สถานที่ราชการ หรือร้านอาหาร ที่อยากมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการรักษาคุณภาพน้ำในคลองบางปรอก
.
ในฐานะผู้นำชุมชน และประธาน ทสม. การเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมร้อยความร่วมแรงร่วมใจ โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น ฉลวยเข้าใจดีอยู่แล้วว่า แนวทาง Empowerment หรือการสร้างคุณค่าให้กับสมาชิกทุกคน จะสามารถหลอมรวมหัวใจของนักอนุรักษ์ในชุมชน ให้ทำงานร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคีได้ ด้วยการใช้ความถนัดที่แตกต่างกันไปให้เกิดผลสำเร็จในการทำงาน เฉกเช่นเดียวกับระยะเวลา 15 ปี ที่คนในชุมชนคลองบางปรอกยังคงบำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่องด้วยน้ำหมักชีวภาพ และได้ร่วมกันจัดตั้งธนาคารน้ำหมักชีวภาพขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถหยิบนำไปใช้ได้ตามความต้องการ
.
เมื่อผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการคืนชีวิตให้กับคลองบางปรอก จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ และศึกษาแนวทางปฏิบัติงาน โดยมีฉลวย และทีมงานคอยเป็นวิทยากรเผยแพร่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ยิ่งใหญ่ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็คือ ความผูกพันกันในชุมชนที่ได้ปฏิบัติภารกิจรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนกันมาอย่างยาวนาน คือพลังแห่งความสัมพันธ์ที่ได้ร่วมแรงร่วมร่วมใจกัน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนได้มีคลองสวยน้ำใส เหมือนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เครือข่าย ทสม. จังหวัดปทุมธานี ได้รับรางวัลเครือข่าย ทสม. ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2563 ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ
ฉลวย เป็นผู้จุดประกาย การพัฒนาชุมชนให้ดำเนินมาถึงทุกวันนี้ และเธอก็ยังตระหนักเสมอว่างานพัฒนาคนไม่ใช่ของง่าย จะให้ดีต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก กิจกรรมที่ส่งเสริมเด็กๆ เรื่องการอนุรักษ์แหล่งน้ำจึงเกิดขึ้นสม่ำเสมอในชุมชนบางปรอกแห่งนี้
นั่นทำให้เธอ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล ในครั้งที่ 10 ประจำปี 2551 ในฐานะเป็นคนจุดประกายและเป็นผู้นำชุมชนที่ลงมือทำจริงๆ ทั้งในเรื่องการจัดการขยะในคลอง จัดกิจกรรมเพื่อเยาวชน สร้างสนามเด็กเล่น ทำห้องสมุดเรือ โครงการเพื่อการศึกษาของเยาวชนในชุมชนบางปรอก และรื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่ "มอญถวายบัว" ให้กลับมา ตลอดจนคิดค้นนวัตกรรมการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่ลำคลอง ด้วยการประดิษฐ์เครื่องดักไขมัน อุปกรณ์ช่วยสร้างน้ำใส และเติมน้ำใจให้ชุมชนมีความสามัคคี ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อไล่น้ำเสียในคลองบางปรอกให้หมดไป