xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจกู้วิกฤตโลกมุ่ง SDG รายการติวเข้ม-มีตัวช่วย /ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้ระดับผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องคำนึงถึงโจทย์สำคัญที่ต้องบริหารจัดการให้ดีอย่างน้อย 2 ประเด็น


2 คำศัพท์ยอดฮิต
ในการวางกลยุทธ์หรือระบุในแผนงานที่ต้องคำนึงถึงคำนี้

ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า (Supplier) ชุมชนและสังคมวงกว้าง

ความยั่งยืน (Sustainability) อย่างเช่นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development) ซึ่งก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์พยายามผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีแผนและทำจริง

ทั้งนี้ ด้วยการคำนึงถึงผลลัพธ์ 3 มิติ หรือ ESG ได้แก่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) รับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย (Social) มีธรรมาภิบาล (Governance)

สูตรสำเร็จเก่ง+ดี

ถ้าระดับบริหารขององค์กรตั้งแต่คณะกรรมการและฝ่ายบริหารระดับบน ระดับกลางจนถึงหัวหน้างาน มีความเชื่อและวิธีคิด มีจุดมุ่งหมาย (Purpose) ที่จะขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESGs

นโยบายและแผนปฏิบัติการจะตามมาด้วยเป้าหมายเพื่อให้เกิดคุณภาพ ประสิทธิภาพและความถูกต้อง เป็นธรรมในระบบบริหารการผลิตและการใช้ทรัพยากร

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผลิตภาพ (Productivity) ก็จะดี และผลประกอบการดีๆ (Performance) ย่อมเกิดขึ้น

เท่ากับมีการป้องกันความเสี่ยงจากการทำผิดกฎหมายและป้องกันการถูกต่อต้านจากชุมชน เนื่องจากมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วยหลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงการไม่สร้างผลเสียแก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย

การเป็นองค์กรที่เก่งและดี นี่แหละส่งผลลัพธ์ให้เกิดความยั่งยืน เพราะลูกค้า คู่ค้าและนักลงทุนอยากคบค้า สนับสนุนกิจการที่มีคุณสมบัติแบบนี้ เพราะน่าเชื่อถือ ไม่อยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอน

SDG เป้าหมายแก้วิกฤตโลก

เพราะวงการต่างๆ ย่อมมีความแตกต่างกันหลายระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชนในแต่ละประเทศของภูมิภาคต่างๆ ที่มีส่วนช่วยแก้ไขหรือซ้ำเติมปัญหาของโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันจะเข้าขั้นวิกฤต

โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงผันผวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) และภัยธรรมชาติ

เมื่อปี ค.ศ.2015 ผู้นำ193 ประเทศ สมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจากเมืองไทยได้ไปลงนามรับรองการประกาศใช้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

นั่นเป็นการให้พันธสัญญาว่า ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมจะปรับความคิดและแนวปฏิบัติ มีผลดีต่อการแก้ 17 ปัญหาสำคัญของโลกให้ดีขึ้นภายในปี 2030

คุณคิดว่าเป้าหมายที่จะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นตามโครงการนี้ ซึ่งได้ผ่านไปแล้ว 1 ใน 3 เรามีเวลาอีก 10 ปีจะสำเร็จไหม และแต่ละคน ครอบครัว องค์กร หน่วยงานทุกระดับของประเทศได้ร่วมใจร่วมทำ เพื่อให้เกิดผลดีขึ้นเพียงไร

ค่าเฉลี่ยด้าน SDG ของประเทศไทย
ประเทศไทยคืบหน้าแค่ไหน

ดร.ชล บุนนาค แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในนาม SDG Move ซึ่งเป็นโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ให้ข้อมูลว่า แผนดำเนินการ SDGs ของประเทศไทยมีข้อดีไม่น้อย ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ในเชิงนโยบายหลักด้าน SDGs มีการเอายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 และแผนแม่บทเป็นตัวตั้งแล้วนำ SDGs เข้าเชื่อมโยง ช่วยให้ทิศทางการขับเคลื่อน SDGs ชัดเจน โดยมีสภาพัฒน์เป็นแกนประสานงาน

จากการประเมินความคืบหน้าในการมุ่งบรรลุเป้า SDGs นั้น ข้อมูลของปี 2019 ประเทศไทยได้คะแนนรวม 73.0 (ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 65.7) มีอันดับ 40 จากการประเมิน 162 ประเทศ

อันดับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม 54 สิงคโปร์ 66 และมาเลเซีย 68

เฉพาะประเทศไทยนั้น ได้ผ่านเกณฑ์ของเป้าหมาย (การขจัดความยากจน) ซึ่งดร.ชลอธิบายว่า เพราะเส้นความยากจนสากลตั้งไว้ต่ำแค่ 1.90 ดอลลาร์ (ประมาณ 57.28 บาท) หรือเดือนละ 1,718.40 บาท เป็นผลให้ไทยไม่มี “คนจนสุดขีด”

ขณะที่เส้นความยากจนของไทย ปี 2561 กำหนดเฉลี่ยที่ 2,710/เดือน

ต้องเร่ง “ลงมือทำ”


ดูท่าทีของหน่วยงานของสหประชาชาติที่รับรู้ข้อมูลความคืบหน้าโดยรวมแล้ว ไม่น่าวางใจ จึงต้องการกระตุ้นให้ทุกประเทศร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ใกล้เป้าหมายการแก้ปัญหาของโลกทั้ง 17 หัวข้อ
องค์การสหประชาชาติจึงเรียกช่วงเวลา 10 ปีจากนี้ไปว่า “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ” (Decade of Action)

SDG Action Manager


นี่เป็นเครื่องมือช่วยปรับปรุงการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเห็นผล ซึ่งจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาของโลก
•รู้จักหาทิศทาง การเริ่มต้นและดำเนินการตามกรอบ SDGs ได้ดี
•สามารถเลือกเป้าหมายที่เหมาะกับองค์กรและติดตามผล เพื่อนำมาปรับแก้ให้ดีขึ้นอีก
•สามารถเรียนรู้ทุกขั้นตอนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ธุรกิจได้โปรแกรมประเมินตัวเอง โดยมีเครื่องมือชี้วัดที่มีเกณฑ์อ้างอิง และได้แนวทางการพัฒนาผลิตภาพเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายธุรกิจ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายโลกคือ SDGs
รายการ SDG Action Manager เป็น Workshop ที่พัฒนาเนื้อหาและวิธีการ โดยเครือข่ายของสหประชาชาติ UN Global Compact (UNGC) ร่วมกับ B Lab ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากล เป็นหน่วยประเมินผลออกใบรับรองให้กับองค์กรที่เป็น “ธุรกิจสร้างคุณค่าต่อโลก”

การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติในเมืองไทยครั้งนี้ ดำเนินการโดย Global Compact Network Thailand และ B Corp Thailand จะจัดขึ้นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ตึก AIA ถนนรัชดาภิเษก และมีรายการตามต่อเนื่องทาง Zoom อีกสัปดาห์ละครั้ง 1.5 ชั่วโมง รวม 5 ครั้ง
ผู้บริหารบริษัทที่มีข้อสงสัยหรือต้องการพัฒนาวิธีการดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รีบติดต่อสอบถามรายละเอียดการอบรม โดยติดต่อไปที่ 089-6801233

ข้อคิด....


ถ้ามีคำถามว่า การดำเนินธุรกิจยุคนี้ในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งต้องกังวลที่จะปรับกลยุทธ์ให้อยู่รอดก่อนมิใช่หรือ
ก็ใช่ล่ะ ที่องค์กรต้องปรับตัวให้อยู่รอด ปลอดโรค ปลอดภัย กับปัญหาเฉพาะหน้า

...แต่ขณะนี้ เราอยู่ในยุคดิจิทัล ที่โลกธุรกิจและสังคมไม่เหมือนเดิม (ไม่มีความลับ ไม่มีข้อจำกัด) ผู้บริโภค นักลงทุนรับรู้ และเรียนรู้ จึงมีทางเลือกสิ่งที่คุ้มค่า

ธุรกิจที่มุ่ง “กอบโกย” จะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามุ่ง “เกื้อกูล” คำนึงถึงประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสียและทำสิ่งที่ถูกต้อง-เป็นธรรม จะมีคนคบค้าด้วย

วิธีคิดและทำแนวนี้ ดีทั้งต่อธุรกิจในระยะยาว มีความยั่งยืน แนวคิดและวิธีการที่ดีต่อเป้าของสหประชาชาติ SDGs จึงไม่ใช่ภาระ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อลดความเสี่ยงขององค์กรและดีต่อโลกด้วย


suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น