จนถึงตอนนี้ลูกช้างป่าพลัดหลงจากห้วยขาแข้ง “ทับเสลา” ที่ย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่ ณ ห้วยหัวทุ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง เป็นเวลากว่า 2 เดือน ก็ยังฟันธงไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าสองแม่รับ คือ แม่วาเลนไทน์และแม่ดอกรัก ยอมรับเป็นลูกแล้วจริงๆ
แม้ดูเหมือนว่าลูกช้างและแม่ช้างเข้ากันได้ดี เมื่อเดินเคียงคู่กัน ยอมอาบน้ำด้วยกัน ลูกช้างเข้าหา ฝ่ายแม่ก็ดูแล แต่อาจเป็นเพียงยอมรับแค่เป็นพวกพ้อง แต่ยังไม่ใช่เสียทีเดียว สำหรับสถานะแม่กับลูก ตราบใดที่ลูกช้างยังไม่ดูดนมโดยตรงจากเต้าแม่วาเลนไทน์ (เจ้าหน้าที่ยังป้อนนมขวด โดยนำนมแม่มาผสม)
นั่นเป็นสาเหตุให้ทางเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าหัวทุ่ง แม่ยาม แม่เกี๋ยง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ร่วมตัดสินใจเพิ่มกลยุทธ์ในการสานสัมพันธุ์ลูกช้างกับสองแม่รับ โดยให้มาอยู่ในคอกเดียวกันในตอนกลางคืน (เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา) ตามเป้าหมายหลัก ต้องการให้ทับเสลาเติบโตอย่างปลอดภัยแบบช้างป่า ซึ่งจำเป็นจะต้องได้เรียนรู้จากแม่ช้าง ก่อนจะถึงในช่วงอย่านม ที่มีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นลูกช้างควรจะพึ่งพาตนเองได้ในป่าตามธรรมชาติ
ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าลูกช้างป่าจำเป็นต้องมีแม่รับหรือไม่นั้น ดร.ไสว วังหงษา อดีตข้าราชการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (จอมยุทธ์อีกคนหนึ่ง ซึ่งขึ้นชื่อในการศึกษาพฤติกรรมช้างป่า และได้ใช้ชีวิตช่วงรับราชการเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย บ้านของช้างที่มีจำนวนมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร) อธิบายว่า
“แม่รับสำคัญมากสำหรับลูกช้างน้อย เพราะแม่รับเป็นทั้งครูของแม่ช้างสาวเกิดลูกใหม่ รวมถึงลูกช้างกำพร้า แม่ช้างสาวยังไม่มีประสบการณ์ เธอมักจะไม่รู้วิธีการดูแลลูก แม่รับนี่ล่ะที่จะคอยช่วยดูแล นอกจากนี้เมื่อช้างน้อยเติบโตแม่รับจะสอนแบบ Learning by doing ว่าสิ่งใดกินได้ กินไม่ได้ ถ้าไม่มีแม่สอนเกิดมันไปกิน "ต้นหานช้างร้อง" ยุ่งนะ ชื่อก็บอกอยู่ว่าขนาดช้างยังร้อง”
“ยกตัวอย่าง ในแอฟริกาเมื่อแม่ช้างที่อาวุโสสุดในกลุ่มโดนพรานใจร้ายล้ม เจ้าลูกช้างตัวเล็กที่อยู่ในกลุ่มก็ล้มตามไปด้วย เพราะแม่ช้างสาวไม่มี ช้างพี่เลี้ยงคอยสอนวิธีการดูแล วิธีการรักษาความปลอดภัยแก่ลูก”
ตอนนี้ทับเสลา อายุราว 1 ปี ตามปกติของลูกช้างป่าวัยนี้จะได้รับการดูแล เรียนรู้และกินนมแม่ จนอายุถึง 3 ปี ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหลือประมาณ 2 ปี พฤติกรรมของแม่รับและลูกช้างจำเป็นต้องสร้างความใกล้ชิดจนเห็นได้ว่าอยู่ด้วยกันแบบแม่ลูกแล้วจริงๆ
ตามรายงานจากเพจ ....บอกว่า“ทีมงานต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เพราะแม่รับนั้นเคยถูกปล่อยอิสระในป่า การนำแม่มาไว้เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แม่ๆอาจเบื่อ พอเบื่อแล้วก็จะอารมณ์ไม่ดีเห็นอะไรก็จะไม่มีความสุขจนอาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติการลุ้นของเราล้มเหลว เพราะฉะนั้นปฏิบัติการเทียบแม่รับต้องใจลุ่มๆ มากๆ”
หลังจากที่แม่รับทั้งสองเข้ามาเรียนรู้ปรับพฤติกรรมกับน้องทับเสลาในตอนกลางวัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2563 เจ้าหน้าที่พาน้องกับแม่ทำกิจกรรมร่วมกันในป่าธรรมชาติ จากพฤติกรรมที่เห็นเป็นผลที่น่าพอใจ “เราใช้ระยะในการนำน้องกับแม่อยู่ร่วมกันในช่วงกลางวันนานประมาณ 7- 8 วัน แล้วจึงขยับมาเพิ่มเวลาในช่วงกลางคืนเป็นขั้นต่อไป”
อย่างไรก็ตาม แฟนเพจ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ซึ่งเป็นแม่รับจากทางบ้านที่ติดตาม แสดงความเป็นห่วงใยในความปลอดภัย ขณะที่อยู่กับแม่รับช่วงกลางคืน ก็ได้รับคำชี้แจงว่า ทางเจ้าหน้าที่ดอยผาเมือง ตระหนักถึงเรื่องนี้ไว้อย่างดี จึงจัดชุดเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่หน้าคอก 2 จุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็ช่วยได้ทันที เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่าเหล่าแม่ช้าง คิดอย่างไร กันเองไว้ก่อนดีที่สุด นั่นคือมาตรการเฝ้าระวัง
ที่จริงแล้ว ทับเสลา เข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรมให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ตามธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง
ขั้นแรกของการปรับพฤติกรรม คือ การตรวจสอบความพร้อมด้านสุขภาพ ได้แก่ การตรวจสุขภาพภายนอก (Physical Examination) การวัดขนาดเพื่อคำณวนน้ำหนัก และภาวะโภชนาการ (Body condition score) การเก็บตัวอย่างเลือด เก็บตัวอย่างมูลฯลฯ
ขั้นที่ 2 ที่กำลังทำอยู่ คือการนำช้างเข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรม เพื่อให้ช้างสามารถเรียนรู้การดำรงชีวิตในป่า และสร้างสังคมก่อนปล่อยสู่ป่า ความพยายามของทีมงานจึงมีแม้กระทั่งนำเครือสะบ้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อให้แม่และลูกเข้ากันได้ดี
สำหรับผลจากการปรับพฤติกรรมให้แม่รับและลูกอยู่ในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวันเป็นไปด้วยดี ทับเสลา เข้าหาแม่รับ ทั้งแม่วาเลนไทน์ และแม่ดอกรัก แต่เข้าหาแม่ดอกรักมากกว่า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มองว่า ทับเสลารู้โดยสัญชาตญานว่าดอกรัก คือแม่รับที่จะดูแล ความปลอดภัย ให้เธอได้ ส่วนแม่วาเลนไทน์นั้นถือเป็นช้างสาวเพราะเพิ่งเกิดลูกตัวแรก และยังไม่ทันกี่วันลูกก็ตายไปก่อน เธอจึงยังไม่รู้วิธีการในการดูแลลูกช้างดีพอ แต่เธอพร้อมจะเป็นลูกมือแม่ดอกรัก
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่อยู่ด้วยกันตอนกลางคืน ตอนนอนหลับ ทับเสลายังคุ้นเคยกับการนอนตัวเดียว จึงมักไม่ยอมนอนเคียงคู่กับแม่ ก็คงเป็นพฤติกรรมที่คุ้นเคยของนางซึ่งคล้ายกับตอนที่หิวนม เธอก็จะร้องเรียกหานมขวดมากกว่านมจากเต้าของแม่
ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ดอยผาเมืองรวมถึงพี่ควาญมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ และทีมงานเบื้องหลังทุกคนจึงพยายามยิ่งนักที่จะทำให้ทับเสลาได้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่รับทั้งสอง “ประเด็นมันอยู่ที่เมมโมรี่การ์ดของทับเสลาบรรจุความทรงจำอยู่ที่คนและขวดนม ทุกครั้งที่หิว นมมา นั่นคือสิ่งที่จำ ทำแบบนี้แล้วสบาย เหมือนเด็กน้อย เวลาอยากได้อะไรจะเริ่มจากบอก ร้องไห้ ลงไปดิ้นกับพื้น อะไรประมาณนั้น
“เราพยายามทุกวิถีทางให้ทับเสลาอยู่ใกล้แม่มากที่สุด แต่เราก็ต้องดูแลสวัสดิภาพของแม่ๆทั้งสองเชือกด้วย แม่เคยถูกปล่อยหากินอิสระในป่า แต่เดี๋ยวนี้แม่ต้องมาเพื่อให้ช้างน้อยคุ้นชินกับช้างด้วยกัน ไม่ใช่คุ้นแต่มือคนและขวดนม”
สรุป 7 คืนที่ทับเสลาอยู่กับแม่รับ นางยังใช้ชีวิตตามปกติ กินน้ำ กินนม นอนหลับ ขับถ่าย อารมณ์ร่าเริง มีการใช้พื้นที่ในการเดินเล่นในคอก และเดินหาแม่รับ(ดอกรัก) เป็นระยะ แต่ยังอยู่ในระยะห่างจากแม่ช้าง 10-15เมตร แต่มีพัฒนาการขยับเข้าใกล้แม่รับนานขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ปรับเวลาการป้อนนมลดลงเหลือสองครั้ง เพื่อลดความใกล้ชิดกับคน แต่คงอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
ชมลิงก์ เจ้าช้างน้อย จอมดรามา ทับเสลา ที่มีอะไรให้พิศวงอยู่เรื่อย
ข้อมูลอ้างอิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
เครดิตคลิป เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง